กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปลื้มผู้ประกอบการชาไทย ‘ช้างเผือก’ ที่ร่วมบู้ธ DTN Tea Bar ในงาน THAIFEX – World of Food Asia 2019 เนื้อหอม หลังต่างชาติรุมจีบ ทั้งสั่งซื้อสินค้า และจ้างผลิตแบบ OEM พร้อมทำยอดปิดดีลทันทีในงานกว่า 8 ล้านบาท กรมฯ หนุนผู้ประกอบการเร่งใช้ประโยชน์เอฟทีเอ หลังพิสูจน์ว่าช่วยขยายการส่งออกชาสู่ตลาดโลกได้จริง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังนำผู้ประกอบการชา ‘ช้างเผือก’ ซึ่งกรมฯ เล็งเห็นศักยภาพจากการลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย มาร่วมจัดนิทรรศการชาและเวิร์คช้อปปรุงชาที่บู้ธ DTN Tea Bar ในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ THAIFEX – World of Food Asia 2019 ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าผู้ประกอบการทั้ง 6 ราย ที่มาร่วมงาน ได้แก่ ชาดอยวาวี สวรรค์บนดิน ชาเวียงกาหลง ชาดี 101 ชาวังพุดตาล และเสริมลักษณ์ชาไทย ได้รับความสนใจจากต่างชาติอย่างมาก โดยสามารถจับคู่ธุรกิจและมีคำสั่งซื้อชาจากมาเลเซียและอินโดนีเซียในงานทันที มูลค่าประมาณ 6 – 8 ล้านบาท และยังได้รับการติดต่อจากโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าในไทยให้ไปร่วมจัดกิจกรรมแสดงการปรุงชาและวางจำหน่ายสินค้า รวมทั้งยังมีนักธุรกิจจากจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐฯ แคนาดา มาเลเซีย และบรูไน ทั้งที่เป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้า ห้างโมเดิร์นเทรด และตลาดออนไลน์ ติดต่อขอเจรจาสั่งซื้อสินค้า ตลอดจนจ้างให้ผลิตสินค้า (OEM) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตกลงราคาและปริมาณสินค้าขั้นต่ำ (MOQ)
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกชาดำและชาเขียวของไทยขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากที่ประเทศคู่เอฟทีเอ อาทิ จีน และอาเซียน (ยกเว้นเมียนมา) ไม่เก็บภาษีนำเข้าชาจากไทยแล้ว ดังนั้นหากเกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถเพิ่มมูลค่า พัฒนาคุณภาพสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอมาช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก ก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขยายการส่งออกชาและผลิตภัณฑ์ชาของไทยไปตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น” นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยส่งออกชาเขียวขนาดบรรจุไม่เกิน 3 กิโลกรัม เป็นมูลค่ากว่า 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 17.8 มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งถือเป็นสินค้าสำหรับตลาดที่เน้นสินค้าพรีเมียม คุณภาพดี ขณะที่ชาดำขนาดบรรจุไม่เกิน 3 กิโลกรัม สามารถส่งออกได้มูลค่า 4.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 58.7 มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม
—————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์