กรุงเทพ – 9 ธันวาคม 2565 มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และ มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย จัดงานเปิดตัวสารคดี “GIANT SWING” และการเสวนาหัวข้อ “เพียงแค่เราเห็นคนทุกคนเป็นคนเท่ากัน อนาคต Sex Worker ประเทศไทย” เพื่อส่งเสริมให้พนักงานบริการได้รับสิทธิและการคุ้มครองในฐานะพนักงาน ลูกจ้าง เหมือนบุคคลอื่นในสังคมไทย
โดยได้รับเกียรติจาก คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์ 2 ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ
คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในอดีตมีการขับเคลื่อนและต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องเพศสภาพ เมื่อก่อนผู้หญิงได้รับสิทธิไม่เท่าผู้ชาย ซึ่งตอนนี้เรายังอยู่ในเส้นทางของการทำให้มนุษย์เท่ากันอยู่ในหลาย ๆ มิติ เชื่อว่าเรื่องของความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ในหลาย ๆ กลุ่มยังไม่เท่าเทียมกัน กรุงเทพมหานครมีทีมของสำนักอนามัยและข้าราชการที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี มีหลายท่านที่เป็น LGBTQ และมีประสบการณ์กับคนหลากหลายอาชีพมานาน เชื่อว่าวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทีมนโยบายของกรุงเทพมหานครต้องพัฒนาไปด้วย
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีการเปิดคลินิกดูแลสุขภาพให้กับกลุ่ม LGBTQ สำหรับเรื่องสวัสดิการและการขับเคลื่อนต้องดำเนินการต่อไปในระยะยาว ซึ่งการรวมกลุ่มกันของผู้ที่ทำงานบริการสามารถขับเคลื่อนสวัสดิการ หรือการเข้าถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันได้มากขึ้น เชื่อว่าคงจะมีหลาย ๆ นโยบายที่ต้องมีการปรึกษาหารือและทำงานร่วมกันในอนาคตต่อไป ขอขอบคุณมูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ที่ได้ร่วมกันจัดงานนี้ โดยกรุงเทพมหานครยินดีให้การสนับสนุนเพื่อการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่
คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เปิดเผยว่า หลังจากการประกาศล็อกดาวน์สถานบริการและสถานบันเทิงนับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 ได้ส่งผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับพนักงานบริการกว่า 200,000 คน ที่ต้องกลายเป็นคนตกงาน ไม่มีอาชีพและขาดรายได้ในทันที รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยาหรือความช่วยเหลือของภาครัฐได้เท่ากับประชาชนในอาชีพอื่น มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) จึงลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม ระดมความช่วยเหลือจากประชาชน ภาคธุรกิจ และสังคม เพื่อช่วยเหลือพนักงานบริการในภาวะวิกฤต ทั้งเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ การส่งของกลับบ้านให้กับครอบครัวของพนักงานบริการ
นับว่าภาวะวิกฤตโควิด-19 คือ ประตูสำคัญที่เปิดให้สังคมเห็นความเดือดร้อนและการมีอยู่ของพนักงานบริการ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้การมองคนเป็นคนที่เท่ากัน แม้ว่าเขาจะมีความแตกต่างด้านอาชีพ แต่พวกเขาคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสิทธิของพนักงานบริการในอนาคต คณะผู้จัดงานจึงได้จัดทำสารคดีสั้นเรื่อง “GIANT SWING” ขึ้นเพื่อสะท้อนเรื่องราวชีวิตของพนักงานบริการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
กิจกรรมวันนี้ ได้กำหนดให้จัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2565 เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่มีวันสำคัญต่อการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของพนักงานบริการ คือ วันที่ 10 ธันวาคม “วันสิทธิมนุษยชนสากล” เพราะการขับเคลื่อนสิทธิของพนักงานบริการ คือ สิทธิมนุษยชน และวันที่ 17 ธันวาคม ของทุกปี เครือข่ายการทำงานเพื่อสิทธิพนักงานบริการได้บรรจุให้เป็นวันสากลเพื่อยุติความรุนแรงต่อพนักงานบริการ (International Day to End Violence Against Sex Workers) ดังนั้น การเปิดตัวสารคดีสั้นเรื่อง “GIANT SWING” และการเสวนาในวันนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้สังคมไทยทบทวนในการมีอยู่ของ Sex workers และทิศทางที่ควรจะต้องเดินต่อไปในอาชีพนี้” คุณสุรางค์ กล่าว
รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประธานมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนาว่า การสงเคราะห์เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าสงเคราะห์ต่อไปนาน ๆ อาจจะอ่อนแรงและล้มลงในสักวัน คงจะดีกว่าถ้าทุกคนทำให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ
คุณสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าแก้ได้ก็จะเป็นหลักประกันที่ทำให้คนได้รับการคุ้มครองสิทธิที่เท่าเทียมกัน ตราบใดที่ยังมีพนักงานบริการ (sex worker) เขาก็ควรได้รับการคุ้มครองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ควรมีใครต้องได้รับการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
คุณธนษิต จตุรภุช (คุณต้น) ศิลปินจากค่าย เลิฟ อิส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ กล่าวว่า พนักงานบริการ (sex worker) เป็นอาชีพที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมายจะดีกว่าไหม เมื่อเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อมีคนต้องการก็มีคนขาย ดังนั้น การให้บริการทางเพศจึงถือเป็นเรื่องปกติ
คุณกฤษสยาม อารยะวงค์ไชย ผู้อำนวยการมูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่พวกเราทุกคนกำลังขับเคลื่อน เราไม่ได้ต้องการให้พนักงานบริการมีอะไรพิเศษมากกว่าคนทั่วไป แต่เราแค่อยากให้เขาได้รับอะไรในสิ่งที่ทุกคนได้รับในฐานะที่เขาก็เป็นคน ๆ หนึ่งเหมือนกัน
กิจกรรมวันนี้คือจุดเริ่มต้น และความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนเพื่อการผลักดัน การแก้ไข ทบทวน กฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณี ที่จะต้องดำเนินต่อไปจนกว่าอาชีพพนักงานบริการจะได้รับการคุ้มครองในฐานะพนักงาน ลูกจ้าง และได้รับการคุ้มครองในฐานะมนุษย์เหมือนบุคคลอื่นในสังคม