รองศาสตราจารย์ ดร.อาภาวรรณ หนูคง ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ ใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวเข้ามาทุกที โรคที่พบบ่อยในเด็กมีทั้งกลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบติดเชื้อ และโรคกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ เช่น หอบหืด โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ในหน้าหนาวเด็กเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้อาจมีอาการเพิ่มขึ้นหรือมีอาการกำเริบเมื่อฝนตกและอากาศเย็น ในช่วงที่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบนี้ เด็กเล็กควรได้รับการดูแลและเอาใจใส่อย่างถูกวิธี
โรคหอบหรือหอบหืด (asthma) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ร่วมกับภาวะผิดปกติของหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ มากกว่าปกติ เมื่อเด็กสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น กล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมจะเกิดการหดเกร็ง ผนังหลอดลมบวมหนาขึ้นและสร้างสารคัดหลั่งหรือเสมหะมากขึ้น ทำให้หลอดลมตีบแคบลง ผู้ป่วยจึงหายใจลำบาก มีอาการเหนื่อยหอบ สมรรถภาพของปอดลดลง ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โรคหอบหืดเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดแต่สามารถควบคุมไม่ให้อาการกำเริบได้ โดยระดับการควบคุมโรคแบ่งตามอาการออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. กลุ่มที่ควบคุมโรคได้
2. กลุ่มที่ควบคุมโรคได้บางส่วน คือมีอาการหอบหรือต้องใช้ยาขยายหลอดลมน้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์
3. กลุ่มที่ควบคุมโรคไม่ได้ คือ มีอาการหอบหรือต้องใช้ยาขยายหลอดลมมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ซึ่งสาเหตุของโรคหอบหืดเกิดจากพันธุกรรมของโรคภูมิแพ้ ร่วมกับมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหอบ ได้แก่ ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม (ไรฝุ่น มลพิษในอากาศ PM 2.5 ควันบุหรี่ ขนสัตว์ ละอองเกสรจากดอกไม้หรือพืชบางชนิด) การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ
รองศาสตราจารย์ ดร.อาภาวรรณ หนูคง อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีคำแนะนำให้กับผู้ปกครองที่มีความกังวลใจ หรือต้องการคำแนะนำที่เข้าใจง่ายและสามารถปฏิบัติได้จริง เกี่ยวกับการป้องกันและดูแลเมื่ออาการหอบหืดในกลุ่มเด็ก ได้แก่
1. การสร้างเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย การบริหารปอด
2. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น เมื่อต้องออกนอกเคหะสถาน หรือต้องไปโรงเรียน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ถ้าเป็นไปได้เมื่อเข้าไปในบริเวณที่มี PM 2.5 สูงควรใช้หน้ากากชนิด N95
3 .หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้านในช่วงที่มี PM 2.5 สูง แต่หากต้องเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อกลับมาถึงบ้านควรอาบน้ำ สระผมทันที ในเด็กโรคภูมิแพ้ควรล้างจมูกร่วมด้วย
4. เด็กที่แพทย์ให้ใช้ยาสูดพ่นประเภทควบคุม ควรใช้ยาควบคุมอาการอย่างสม่ำเสมอ
5. ในกรณีที่เด็กมีอาการจับหืด และแพทย์ให้ยาบรรเทาอาการหรือยาฉุกเฉินไว้ ควรเพิ่มพ่นยาเมื่อมีอาการเพียงเล็กน้อย หากอาการไม่ดีขึ้นสามารถพ่นยาซ้ำและรีบไปโรงพยาบาล
นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการสังเกตอาการจับหืดซึ่งผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ ได้แก่ อาการหายใจเร็วกว่าปกติ โดยในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี หายใจเร็วกว่า 50 ครั้ง/นาที เด็กอายุ 1-2 ปี หายใจเร็วกว่า 40 ครั้ง/นาที และเด็กอายุ 3-5 ปีหายใจเร็วกว่า 30 ครั้งต่อนาที หรือเด็กหายใจปีกจมูกบาน ไอถี่ๆ หน้าอกบุ๋ม ได้ยินเสียงหวีดในเสียงหายใจเข้าหรือออก เด็กบอกว่าเหนื่อย หายใจลำบาก
เพียงเท่านี้ผู้ปกครองที่มีความกังวลใจ หรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลโรคภูมิแพ้อากาศในเด็ก ก็สามารถผ่านพ้นฤดูหนาว เพื่อก้าวเข้าสู่ปีใหม่ไปได้อย่างรู้ทันป้องกันได้