ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จังหวัดขอนแก่นเป็นต้นแบบของการพัฒนาความพร้อมเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ “Smart City” และให้ความสำคัญกับนโยบายส่งเสริมด้านการเกษตร อาทิ การสนับสนุน และขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การส่งเสริมการผลิตสินค้าในลักษณะตลาดนำการผลิต รวมถึงการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ และพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพ ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงเลือกจังหวัดขอนแก่นเป็น 1 ใน 10 จังหวัดของการจัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” สำหรับการประกันภัย ข้าวนาปีและข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2562 ซึ่งจังหวัดขอนแก่นนับเป็นครั้งที่ 7 ของการจัดอบรมตามโครงการนี้ โดยพบว่าในปี 2561 จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 2,126,068 ไร่ มีการทำประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 999,667 ไร่ คิดเป็น 47.02% (อยู่อันดับที่ 10) ของประเทศ นอกจากนี้ จังหวัดขอนแก่นยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 6,262 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ดังนั้นจึงต้องให้ความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมทั้งผลักดันให้นำระบบประกันภัยเข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างครบวงจร
โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 เลขาธิการ คปภ. พร้อมด้วยคณะวิทยากร เจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร จำนวน 250 ราย ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านไผ่ เพื่อรับฟังสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้สะท้อนสภาพปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เช่น กรณีการขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรและการยื่นแบบขอรับความช่วยเหลือตามแบบ กษ 01 กรณีที่นาข้าวได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ แต่ไม่มีการประกาศ เป็นเขตภัยพิบัติจะได้รับการเยียวยาหรือไม่ กรณีการเช่าที่นาปลูกข้าวจะต้องใช้เอกสารลักษณะใดเพื่อได้รับสิทธิ์ในการทำประกันภัยข้าวนาปี กรณีที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนทำประกันภัยพืชชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ถั่วเหลือง และถั่วเขียว เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ได้รับการชี้แจงและแนะนำโดยคณะวิทยากรจากสำนักงาน คปภ. เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. และผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย รวมทั้ง ได้มีการรวบรวมข้อมูลการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในครั้งนี้เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆไป
ถัดมาในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 เวลา 8.30 น. ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยเรื่องการบูรณาการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย กับ หอการค้าจังหวัดขอนแก่น โดยนายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ร่วมลงนาม โดยมีนายอลงกต วรกี ปลัดจังหวัดขอนแก่น และนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งกรอบความร่วมมือดังกล่าวมุ่งเน้นการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ในจังหวัดขอนแก่นได้รับความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเป็นหลักประกันความมั่นคง ในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยไปสู่เกษตรกรและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นอย่างครบวงจร
ต่อจากนั้น เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 ณ ห้องออคิดบอลรูม โรงแรมพลูแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น โดยมีนายสันติ เหล่าบุญเสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดขอนแก่นเป็น 1 ใน 10 จังหวัด เพื่อจัดอบรมความรู้ด้านประกันภัยในปีนี้อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น เพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของเกษตรกรจังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ถือเป็นการคลุกวงในเพื่อรับฟังสภาพปัญหาการทำประกันภัยจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นเตือนให้เกษตรกรนำระบบประกันภัยเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งการให้ความรู้ด้านประกันภัยในปีนี้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากปีก่อนๆ 3 ประการ คือ ประการแรก รูปแบบการทำประกันภัยปีนี้รัฐบาลมีหลักการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย โดยสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ประการที่สอง มีการเพิ่มความคุ้มครอง“ภัยช้างป่า”เข้ามาอีก 1 ภัย ทำให้สามารถคุ้มครองความเสี่ยงภัยกับเกษตรกรได้ถึง 8 ประเภท จากเดิมที่ครอบคลุมภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด ประการที่สาม มีการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยข้าวนาปีอยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ซึ่งเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแม้แต่บาทเดียว หากเป็นเกษตรกรทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธ.ส.ก. จะได้รับการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล 51 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรทั่วไปจ่ายส่วนต่างที่เหลือเองแค่ 34 บาทต่อไร่เท่านั้น
ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 24 บาทต่อไร่ ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาท ซึ่งเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแม้แต่บาทเดียว หากเป็นเกษตรกรทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธ.ส.ก. จะได้รับการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล 35 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรทั่วไปจ่ายส่วนต่างที่เหลือเองแค่ 24 บาทต่อไร่
ดังนั้น อยากเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อได้รับสิทธิ์ทำประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2562 ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นภาคใต้ถึง 15 ธันวาคม 2562) ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรอบที่ 2 สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อได้รับสิทธิ์ทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 15 มกราคม 2563 และหากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัยข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่แอพพลิเคชั่น “กูรูประกันข้าว” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186