วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2565 นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดงานเสวนานาชาติ เรื่อง “SOILS: WHERE FOOD BEGINS” ภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ‘Promoting Integrated and Sustainable Agricultural System in Lancang – Mekong Countries’ เสนอมุมมองด้านดิน ในอนุภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง
เพื่อการดำเนินงานด้านพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรและการผลิตอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหาร และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นภายในงานวันดินโลก ปี 2565 ณ สถานีพัฒนาที่ดินตาก อ.เมือง จ.ตาก
โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา หมอดินอาสา ประชาชนทั่วไป และผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ประเทศเวียดนาม เมียนมาร์ สิงค์โปร์ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และเม็กซิโก เข้าร่วมการเสวนา
การเสวนาเริ่มด้วย รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงความสำคัญของดินต่อการเกษตรและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันซึ่งดิน ที่ดิน การเกษตร และระบบการผลิตพืชอาหารได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามที่หลากหลาย จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการดิน ที่ดิน และการเกษตรอย่างยั่งยืน ได้ร่วมกันนำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับดินในด้านโภชนาการที่ใช้ป้องกัน ลด และฟื้นฟูการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินจากกิจกรรมการใช้ที่ดินทางการเกษตร อาทิ
การใช้ปุ๋ย และวัสดุปรับปรุงดินอย่างอย่างเหมาะสม การเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน การรักษาสุขภาพดิน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดตั้งเครือข่ายนักวิชาการและเกษตรกรเพื่อการจัดการดิน เป็นต้น รวมถึงการรักษาสุขภาพดิน ลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและน้ำ บรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเพื่อหามาตรการดำเนินงานพัฒนาที่ดินและการเกษตรที่เหมาะสมในการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนา 4 ด้าน (4 betters) ได้แก่
– ด้านการส่งเสริมการผลิต (better production)
– ด้านการส่งเสริมโภชนาการ (better nutrition)
– ด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม (better environment)
– ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต (better life)
โดยมีข้อสรุปร่วมกันที่จะสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานพัฒนาที่ดินเพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนและปลอดภัยในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการทางด้านดินระหว่างภูมิภาคเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการดิน ที่ดินและการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป