กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปลื้มเอฟทีเอดันส่งออกผลไม้ไทยไปจีนโตต่อเนื่อง ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 152.7 ทุเรียนสดขึ้นแท่นผลไม้ส่งออกไปจีนมากสุด ตามด้วยมังคุดสด ลำไยสด และทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง ชี้ให้เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยเน้นรักษาคุณภาพมาตรฐานการเพาะปลูก และการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการส่งออกของไทยไปจีน ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-เมษายน) พบว่า ผลไม้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด โดยมีมูลค่า 668.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 152.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีอัตราเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยผลไม้ที่ไทยส่งออกไปจีนมากที่สุดคือ ทุเรียนสด (318.61 ล้านเหรียญสหรัฐ) รองลงมาคือ มังคุดสด (141.26 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลำไยสด และทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่การส่งออกสินค้าอื่นของไทยไปจีนในช่วงเดียวกันชะลอตัวลง ทั้งนี้ ในปี 2561 จีนนำเข้าผลไม้จากไทยเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 2,021 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ ชิลี และเวียดนาม ซึ่งทุเรียนสดเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนมากที่สุด (418 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็น 41.5 % ของการส่งออกสินค้าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่ไทยส่งออกไปจีน รองลงมาคือ ลำไยสด ลำไยแห้ง และมังคุดสด
นางอรมน กล่าวว่า จากการประเมินพบว่า เอฟทีเอที่ไทยมีกับจีนภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งจีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยทุกรายการ จากเดิมที่เก็บภาษีอยู่ที่ร้อยละ 10–30 ช่วยให้ผลไม้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดจีนได้ นอกจากนี้ ความตกลงเอฟทีเอที่ไทยทำกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยประเทศที่ไทยได้ทำเอฟทีเอและได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยแล้วมีอาเซียน 5 ประเทศ (สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซียยังเก็บภาษีผลไม้บางประเภทที่อัตราร้อยละ 5) และประเทศอื่นอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง (สำหรับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดียยังมีการเก็บภาษีผลไม้บางประเภทอยู่) ทำให้มูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยไปประเทศดังกล่าว ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่า 1,292 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 95 ของการส่งออกไปโลก และมีอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 83.7 โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน ฮ่องกง และออสเตรเลีย
“ปัจจุบันผู้บริโภคจีนเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพมากขึ้น และหน่วยงานของจีนก็ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลไม้ตลอดจนมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มากขึ้น จึงขอให้เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพมาตรฐานในการเพาะปลูกและการผลิตสินค้าผลไม้สดและแปรรูปให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล” นางอรมน กล่าว