กรมวิทย์ฯ ให้บริการทดสอบเครื่องวัดความดันโลหิต และเครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว” ฟรี!  ในงาน “วันชาติ-วันพ่อแห่งชาติ” วันที่ 5 ธ.ค. 2565 ณ ท้องสนามหลวง

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ในการนี้รัฐบาลได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการจัดกิจกรรมจิตอาสาบริการประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชน ในวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2565 โดยส่วนกลางจัดกิจกรรม ณ บริเวณ ท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมดำเนินการจัดกิจกรรมจิตอาสาบริการและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในด้านการประกอบอาชีพ และด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชน

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมจัดกิจกรรมในงานดังกล่าว โดยออกบูธให้บริการทดสอบคุณภาพเครื่องวัดความดันโลหิต และเครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว ให้ความรู้ในการดูแลรักษาเครื่อง และให้บริการตรวจวัดความดันโลหิต และค่าออกซิเจนให้กับประชาชน อีกทั้งยังมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกลุ้นรับของที่ระลึกมากมาย จึงขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมงานดังกล่าว โดยสามารถนำเครื่องเครื่องวัดความดันโลหิต และเครื่องวัดค่าออกซิเจน ปลายนิ้วมาทดสอบความแม่นยำโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่บูธกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เครื่องวัดความดันโลหิตเป็นเครื่องมือแพทย์และในปัจจุบันประชาชนสามารถหาซื้อเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติมาไว้ใช้งานได้ด้วยตนเองที่บ้านอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการเฝ้าระวังสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิต การใช้งานเครื่องวัดความดันโลหิตที่มีความถูกต้อง จะช่วยให้การดูแลสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปเครื่องวัดความดันโลหิตควรได้รับการทดสอบความแม่นยำเทียบค่ากับเครื่องมือมาตรฐาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวัด ทั้งนี้หากพบว่าเครื่องวัดความดันโลหิตมีค่าผิดพลาดเกินเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ใช้งานจะได้ทราบถึงสาเหตุและหาวิธีแก้ไข หรือหากเครื่อง ไม่ผ่านเกณฑ์ในเรื่องอัตราการรั่วของความดันภายในระบบ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ชำรุด เช่น สายท่อลมภายในเครื่องชำรุดหรือเสื่อมสภาพเล็กน้อย เมื่อเปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่ชำรุด ก็สามารถนำกลับมาใช้งานได้

“สำหรับเครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว เป็นเครื่องตรวจวัดความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือด ซึ่งหากค่าความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดสูง แสดงว่าอวัยวะต่างๆ ในร่างกายสามารถนำออกซิเจนในกระแสเลือดไปใช้ได้อย่างเพียงพอ ในทางกลับกันหากค่าความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดต่ำ แสดงว่าอวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายได้ อีกทั้งค่าความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดนี้ยังเป็นค่าสำคัญที่ใช้บอกประสิทธิภาพการทำงานของปอดด้วย ปกติจะมีค่าอยู่ในช่วง 95-100 หากวัดได้ต่ำกว่า 95 ควรมีการเฝ้าระวังหรือปรึกษาแพทย์ ที่ผ่านมาในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด ทำให้ประชนชนทั่วไปได้จัดหาเครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วมาใช้ ซึ่งมีจำหน่ายอย่างแพร่หลายในร้านค้าออนไลน์ แต่ก็ยังมีความกังวลถึงประสิทธิภาพในการใช้งาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบเครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนปลายขึ้น เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนปลายนิ้ว สร้างความมั่นใจให้ประชาชนผู้ใช้งานเครื่องอีกด้วย” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว