นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการให้บริหารประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ประเด็น “การพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง (Ease of traveling)” โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงาน (Roadmap) ขับเคลื่อนงานบริการ Agenda ระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of traveling) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับหลายส่วนราชการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานบริการได้รับทราบและให้ความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ นั้น
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.วธ.) มีกิจกรรมโครงการที่เกี่ยวข้องในแผนการพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทางที่จะดำเนินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และอุทยานประวัติศาสตร์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และอุทยานประวัติศาสตร์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำไปใช้ในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์และอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ส่วนนี้ วธ. โดยกรมศิลปากร (ศก.) จะเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนและให้ความร่วมมือด้านข้อมูลทั้งหมดผ่านเว็บไซต์ Entry Thailand ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนงานพิพิธภัณฑ์และอุทยานประวัติศาสตร์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีระบบสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม อาทิ Smart Museum ระบบการให้บริการข้อมูลด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบเสมือนจริง แสดงข้อมูลโบราณวัตถุ หมุน 360 องศา และแสดงข้อมูลอาคารโบราณสถานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในรูปแบบ 3D Model , Virtual Museum ระบบเผยแพร่ข้อมูลด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับเทคนิคภาพแบบ Panoramic เข้าชมห้องจัดแสดงได้แบบ 360 องศา , อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง นำเสนอข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ 11 แห่งทั่วประเทศ ผ่านเว็บไซต์ในรูปแบบเสมือนจริง ชมลวดลาย และสัมผัสอีกหนึ่งมุมมองที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากในสถานที่จริง เช่น ยอดพระปรางค์ ภาพมุมสูง เป็นต้น
รายการที่ 2 การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับงานเทศกาลและงานประเพณีของไทยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสะดวกและง่ายต่อการค้นหางานเทศกาลและประเพณีของไทย โดย สป.วธ. จะเป็นหน่วยงานดูแลสนับสนุน และเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ Entry Thailand ทั้งนี้ สป.วธ. มีโครงการส่งเสริมการยกระดับงานเทศกาลและประเพณี 16 กิจกรรม มุ่งสู่การเป็นเทศกาลประเพณีระดับโลก (Festival) ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายระดับชาติและนานาชาติ อาทิ (1) ประเพณีแห่ สลุงหลวง สืบสานกลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง จ.ลำปาง (2) ประเพณีปอยส่างลอง จ.แม่ฮ่องสอน (3) ประเพณีบวชนาคบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ (4) เทศกาลเสน่ห์ชุมชน ยลวิถีย่านเมืองเก่า”วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” จ.ภูเก็ต (5) ประเพณีสืบสานวัฒนธรรมสี่เผ่าไทศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ ฯลฯ รวมถึงมีโครงการสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” คัดเลือกชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยว จากชุมชนคุณธรรมฯ กว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ ปลุกกระแสการท่องเที่ยววิถีชุมชน ซึ่งปีนี้มีชุมชนคุณธรรมฯ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดชุมชนยลวิถี 10 แห่ง อาทิ (1) ชุมชนคุณธรรมฯ แหลมสัก ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ (2) ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง ต.แม่กรณ์ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย (3) ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านภู ต.บ้านเป้า อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร (4) ชุมชนคุณธรรมฯ วัดบางน้ำผึ้งใน ต.บางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ฯลฯ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) , ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) , การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) , ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) , เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ทั้งนี้ แผนงานฯ ดังกล่าวนับเป็นแผนที่น่าสนใจต่อการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาพรวมของประเทศ ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประเทศมากขึ้น