องค์การเภสัชกรรม (GPO) พัฒนายาต้านไวรัสสูตรใหม่ GPO-Hep C เพื่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียม สอดคล้องแนวคิด “Equalize ทำให้เท่าเทียม” เนื่องในวันเอดส์โลก
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึง การดำเนินงานวิจัยพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม เพื่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคมนี้ว่า องค์การเภสัชกรรมเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์เพื่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนายาต้านไวรัสเอดส์ให้ทันต่อสถานการณ์และแนวทางการรักษาใหม่ ตลอดจนพัฒนายาทั้งสูตรยาเดี่ยวและสูตรยาผสม สำหรับผู้ใหญ่และเด็ก โดยคำนึงถึงความสะดวกในการรับประทานยาของผู้ป่วยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการดื้อยา รวมทั้งมีการพัฒนาประสิทธิภาพยาเพื่อให้ครอบคลุมการรักษาแม้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ดื้อยาแล้วก็ตาม
รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาได้ เนื่องจากเป็นยาที่ต้องนำเข้าซึ่งมีราคาสูง องค์การเภสัชกรรมจึงได้เริ่มการวิจัยและพัฒนายาสามัญต้านไวรัสตับอักเสบซี ตัวแรกขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 คือ ยาเม็ดไรบาวิริน (Ribavirin tablets) ขนาด 400 และ 200 มิลลิกรัม ใช้รักษาร่วมกับยาฉีดเพกอินเตอร์เฟอรอน(Pegylated interferon; Peg-IFN) ต่อมาแนวทางการรักษาร่วมกับยาฉีดดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยไม่สะดวกในการบริหารยา จึงเปลี่ยนมาใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน องค์การเภสัชกรรมจึงได้วิจัยและพัฒนายาสูตรผสมขึ้นชื่อ ยาเม็ดจีพีโอเฮบ-ซี (GPO-Hep C) ซึ่งเป็นยาสูตรผสมระหว่างยาเม็ดโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir tablets) ขนาด 400 มิลลิกรัม และยาเม็ดเวลพาทาสเวียร์ (Velpatasvir tablets) ขนาด 100 มิลลิกรัม ที่เป็น Pangenotypic Direct-acting antiviral agents (DAAs) สามารถใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ทุกสายพันธ์ เพิ่มความสะดวกในการรับประทานยาของผู้ป่วย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้นและลดปัญหาการดื้อยา โดยลดจำนวนเม็ดยาที่ต้องรับประทานจากวันละ 2 เม็ด 1 ครั้งจากยาสูตรเดิม เหลือ วันละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ยาสูตรผสมสำหรับต้านไวรัสตับอักเสบซี ได้นำไปใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้ป่วยในระบบประกันสังคมแล้ว สามารถใช้บริการในโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวในตอนท้ายว่า ผลงานการพัฒนายาดังกล่าว เป็นเสมือนของขวัญที่องค์การเภสัชกรรมมุ่งมั่นตั้งใจมอบให้แก่ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมสอดคล้องแนวคิดการจัดงาน“เทียนส่องใจ” เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2565 ซึ่งสภากาชาดไทยกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2565 เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาของโรคเอดส์ และการร่วมมือ ป้องกัน แก้ไข ตลอดจนสร้างความเข้าใจต่อผู้ติดเชื้อ โดยจัดงานภายใต้แนวคิด “EQualize ทำให้เท่าเทียม” ณ อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ ชั้น M1 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยองค์การเภสัชกรรมได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานการพัฒนายาต้านไวรัสสูตรใหม่ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยชาวไทยได้เข้าถึงยาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป