เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ให้การต้อนรับนางสาวรวิวรรณ จตุรพิธพร ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center : THAC) ในโอกาสเข้าเยี่ยมชม การปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการคดีของอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างองค์กรเพื่อประสานความร่วมมือในการดำเนินการด้านการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการในอนาคต โดยมีการบรรยายสรุปการดำเนินงานและเข้าสังเกตการณ์กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ. ด้วย
ในโอกาสนี้ คณะกรรมการสถาบันอนุญาโตตุลาการได้ซักถามข้อสงสัยและกล่าวชื่นชม กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน คปภ. ว่ามีรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดขั้นตอนและประหยัดเวลาเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเพิ่มมากยิ่งขึ้นในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ว่าต้องได้รับการคุ้มครองตามเงื่อนไขต่างๆที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อย่างแท้จริง
สำหรับกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการสานต่อภารกิจที่กรมการประกันภัยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภท ยกเว้น Marine Hull Policy และ Marine Cargo Policy โดยนับแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการถึง 5,065 คดี ทุนทรัพย์ที่เรียกร้องกว่า 18,000 ล้านบาท สามารถดำเนินการจนข้อพิพาทยุติลงได้ 4,630 คดี ทุนทรัพย์ที่ยุติกว่า 7,900 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับการประกันภัยทางทะเล ปัจจุบันใช้กฎหมายประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษในการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาประกันภัยทางทะเล สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ. ประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … ขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ และเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกันภัยทางทะเลฯ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับในอนาคตอาจกำหนดให้ข้อพิพาทที่เกิดจากการประกันภัยทางทะเลเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ต่อไป
ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนากระบวนงานการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ โดยออกระเบียบเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ 2 ฉบับ คือ ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยว่าด้วย อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับ 2) พ.ศ. 2553 โดยมีสถานที่ ทำการอนุญาโตตุลาการ 3 แห่ง คือ ที่ทำการอนุญาโตตุลาการส่วนกลาง กรุงเทพ ฯ รับผิดชอบพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ที่ทำการอนุญาโตตุลาการ คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) รับผิดชอบพื้นที่ 18 จังหวัดทางภาคเหนือ และที่ทำการอนุญาโตตุลาการ คปภ. ภาค 9 (สงขลา) รับผิดชอบพื้นที่ 14 จังหวัดทางภาคใต้
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการปรับปรุงทะเบียนอนุญาโตตุลาการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่พิพาท ในการเลือกอนุญาโตตุลาการได้ตามความประสงค์ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามความรู้ ความเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ถึง 5 สาขา ได้แก่ สาขากฎหมายทั่วไป สาขากลุ่มการประกันภัย สาขาการเงิน-การบัญชี สาขาวิศวกรรม สาขาความเชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงาน คปภ. จำนวน 98 คน รวมทั้งได้เพิ่มประสิทธิภาพการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ โดยได้ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานด้านอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. โดยมีนายโชติช่วง ทัพวงศ์ อนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. เป็นประธานคณะทำงาน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการที่จะมีต่อไปในอนาคต สำนักงาน คปภ. มีจะพัฒนากระบวนงานฯ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้บริหารจัดการ อาทิ งานด้านธุรการ การจัดการระบบสำนวน การวางเงินหลักประกัน การยื่นคำเสนอข้อพิพาท คำคัดค้าน ตลอดจนการรับส่งเอกสารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยวิธีการนี้เป็นการเพิ่มช่องทางและเป็นทางเลือกนอกเหนือไปจากการเดินทางมายื่นคำเสนอข้อพิพาท คำคัดค้าน ตลอดทั้งเอกสารในสำนวนคดีด้วยตนเอง ให้แก่คู่พิพาทที่มีความพร้อมในการดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะปรับปรุงระเบียบและคู่มือการดำเนินการให้สอดคล้องกับการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนงานต่อไป
“สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับภารกิจการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบประกันภัย และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย และขอขอบคุณคณะกรรมการสถาบันอนุญาโตตุลาการที่สนใจและให้เกียรติมาเยี่ยมชมการบริหารจัดการคดีอนุญาโตตุลาการสำนักงาน คปภ. และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันอนุญาโตตุลาการ และสำนักงาน คปภ. จะได้ประสานความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการกันในโอกาสต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย