กรมสุขภาพจิต ห่วงกลุ่มวัยรุ่นเยาวชน นักเรียน และนักศึกษา เสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แนะคนรอบข้างใช้หลัก 3 ส.ในการป้องกันปัญหา คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง
วันที่ 10 มิถุนายน 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพ และเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่การ ฆ่าตัวตายได้ จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปีค.ศ.2017 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก และในประเทศไทย มีข้อมูลการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้า พ.ศ.2551 พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หากพิจารณาตามเพศและอายุของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ร้อยละ 62 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.5 และเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5 ทั้งนี้ แม้ในกลุ่มเยาวชนจะมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยกว่าในกลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่นับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเร่งแก้ไขเนื่องจากวัยรุ่นเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่พบว่า กลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2561 จากการให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 14.6 และเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 20.1 โดย 5 อันดับปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง เมื่อจำแนกตามประเภทของปัญหาพบว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โรคซึมเศร้า มีสาเหตุหลักที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย เป็นต้น หากเยาวชนไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ จะทำให้ทุกปัญหากลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ และอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ มีความคิดอยากตาย
สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนสามารถป้องกันได้ โดยใช้หลัก 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง นักเรียนนักศึกษาที่มีความเครียดวิตกกังวลกับปัญหาที่เผชิญอยู่ จะมีผลต่อสมาธิและความสามารถในการเรียน ซึ่งคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ได้แก่ อาการเหม่อลอย ไม่ร่าเริงแจ่มใส มาเข้าเรียนสายหรือไม่เข้าเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน หลับในห้องเรียน เมื่อพบเห็นภาวะดังกล่าว คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน อาจารย์ที่ปรึกษา คนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัว ต้องรีบเข้าไปพูดคุยร่วมกันหาสาเหตุ รับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและใส่ใจ ให้การช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือส่งต่อแพทย์ได้อย่างทันท่วงที เพื่อเข้ารับการดูแลและรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้อาการดีขึ้นและหายขาดได้ หรือสามารถโทรปรึกษาปัญหาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว