ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ขึ้นประดิษฐานบนหอพระ ณ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์และพิธีเจริญชัยมงคลคาถา ถวายเป็นพระกุศล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ขึ้นประดิษฐานบนหอพระ ณ อาคารศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ส่วนต่อขยายขนาด ๔๐๐ เตียง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานในพิธี และสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวน ๑๐ รูป จากวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารประกอบพิธีเจริญชัยมงคลคาถา เพื่อถวายเป็นพระกุศล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดสร้าง พระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ให้เป็นพระพุทธรูปประจำโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงเจริญพระชนมายุ ๘๙ พรรษา และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา ต่อมาในปี ๒๕๖๕ ทรงมีพระดำริโปรดให้จัดสร้างพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์และอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด ๔๐๐ เตียง เป็นแห่งที่สองเพื่อเป็นสถานที่ไว้เคารพสักการะบูชาของประชาชนผู้มาเข้ารับบริการ เป็นขวัญกำลังใจให้ปราศจากโรคภัยทั้งปวง
พระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ออกแบบตามพระวินิจฉัยใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบประยุกต์ร่วมสมัย ปางนาคปรกบนพระหัตถ์มีหม้อยา ในคติมหายานเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าแห่งการรักษาโรค เพื่อให้สัตว์โลกมิต้องมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ปลดเปลื้องความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทั้งโรคทางกาย ทางใจ และทางกรรม
ในส่วนของหอ พระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ออกแบบโดย อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ สาขาสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) มีลักษณะเป็นอาคารทรงยอดที่ได้แรงบันดาลใจจากยอดจุลมงกุฎตามลักษณะที่ปรากฎในพระนามาภิไธย พื้นที่ใต้ฝ้าเพดานตอนบนเป็นทรงโดม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมสื่อสัญลักษณ์จักรวาลมณฑล และพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา ในลักษณะคติแบบนิกายมหายาน บริเวณฐานเสามีการแกะสลักหินเป็นรูปไก่ฟ้า ซึ่งสื่อถึงปีนักษัตรแห่งพระประสูติกาล ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยหอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ สะท้อนความหมายสำคัญและแสดงออกซึ่งศิลปสถาปัตยกรรมไทยอย่างสมสมัย
ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดตั้งขึ้นจากพระปณิธานอันแน่วแน่ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่จะทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดสร้างอาคารส่วนต่อขยายบริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และพระราชทานนามศูนย์การแพทย์แห่งใหม่นี้ว่า “ภัทรมหาราชานุสรณ์” อันมีความหมายว่า ที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง
เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสานแนวพระราชดำริในการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย โดยโครงการศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ซอย ๕ เป็นสถาบันการแพทย์ตติยภูมิขนาดใหญ่ ๔๐๐ เตียง มุ่งบูรณาการศูนย์การรักษาเฉพาะทางเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยวิทยาการแพทย์ขั้นสูงอย่างครบวงจร อาทิ
หัวใจและหลอดเลือด ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษา ออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู ทางเดินอาหารและตับ ผิวหนังและเลเซอร์ การแพทย์บูรณาการ อายุรกรรม ศัลยกรรม สุขภาพสตรี และกุมารเวชกรรม เป็นต้น เพื่อเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพได้ครอบคลุมทุกโรคด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ภายในพื้นที่โครงการยังประกอบด้วย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
รวมทั้ง พิพิธภัณฑ์หอจดหมายเหตุ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอาคารหอพัก ในการเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนที่จะสร้างบัณฑิตทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่พร้อมบริการสังคมด้วยความรู้ความชำนาญ และเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม โดยโครงการทั้งหมดมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จและจะเริ่มเปิดให้บริการในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ นี้