“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–5 มิ.ย. 62 พบผู้ป่วยแล้ว 3,592 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี และกลุ่มอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ โดยภาคใต้เป็นภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุดถึง 3,500 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.4 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนในสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 29 พ.ค.–5 มิ.ย. 62) พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 86 ราย และมีแนวโน้มพบมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย ที่นอกจากจะเป็นพาหะโรคไข้ปวดข้อยุงลายแล้ว ยังเป็นพาหะโรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้าอีกด้วย โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก หากประชาชนมีอาการไข้ ผื่น ปวดข้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ภาคใต้ในช่วง 14 วันก่อนป่วย ขอให้ไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ในทุกพื้นที่ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และใช้มาตรการ“3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ นอกจากนี้ขอให้ป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นขอให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422