กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย รณรงค์ “Zero Tolerance for SEAH” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล กระตุ้นจิตสำนึกและสร้างความตระหนักแก่บุคลากร ไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉย และไม่อดทนต่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามทางเพศในการทำงานทุกรูปแบบ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ “Zero Tolerance for SEAH” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล โดยมี นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามทางเพศในการทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อบุคลากรที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย และยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์กรด้วย จึงได้เริ่มนโยบายและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 โดยกำหนดกลไกและมาตรการให้หน่วยงานและบุคลากรในสังกัดถือปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนแนวปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและมีระบบกำกับติดตามอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บุคลากรทุกคนได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในศักดิ์ศรี ปราศจากการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พร้อมที่จะมุ่งสู่เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข คือ “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง”
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังแต่งตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรณีการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน มีขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยที่ยึดผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงความต้องการของผู้ถูกกระทำ มีกระบวนการจัดการปัญหาที่เป็นมิตร ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมถึงมีระบบให้ความช่วยเหลือ โดยขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ “Zero Tolerance for SEAH” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและสร้างความตระหนักแก่บุคลากรองค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขให้ไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉย และไม่อดทน ต่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ เป็นหน่วยงานที่เป็นที่เชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชน รวมถึงสนองต่อมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ตลอดจนเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ