“ชวนคุย ชวนคิด” 1 ปี หลังปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (คปสธ.)เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้“ชวนคุย ชวนคิด 1 ปีกับสิ่งดีๆที่ได้จากการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข” พร้อมโชว์พื้นที่ต้นแบบความรอบรู้ด้านสุขภาพที่สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง(สสม.)ยัน!!ประชาชนเจ้าของสุขภาพได้รับประโยชน์จริง

วันที่ 7 มิถุนายน 2562 ที่สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง(สสม.)กรมอนามัย บางเขน กรุงเทพมหานคร นายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขเปิดเผยภายหลังร่วมกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้“ชวนคุย ชวนคิด 1 ปีกับสิ่งดีๆที่ได้จากการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข”ว่าการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขภายใต้เป้าหมายภาพรวมคือ“ประชาชนทุกภาคส่วนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีส่วนร่วมในการวางระบบในการดูแลสุขภาพ ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้ระบบสาธารณสุขที่เป็นเอกภาพและการอภิบาลระบบที่ดี”โดยมีการปฏิรูป 4 ด้าน คือ1. ด้านระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ 2. ด้านระบบบริการสาธารณสุข  3. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและ 4.ด้านความยั่งยืนและเพียงพอด้านการเงินการคลังสุขภาพ ครอบคลุมใน 10 ประเด็นได้แก่ 1. ระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ 2.ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศด้านสุขภาพ 3. กำลังคนด้านสุขภาพ 4.ระบบบริการปฐมภูมิ5. การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ 6.การแพทย์ฉุกเฉิน 7.การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค8. ความรอบรู้ด้านสุขภาพ 9. การคุ้มครองผู้บริโภค 10. ระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้เป็นการเปิดเวทีในพื้นที่ที่ได้นำแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขสู่การปฏิบัติจริงในประเด็นความรอบรู้ด้านสุขภาพและประเด็นเกี่ยวข้องอื่นๆเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดประสบการณ์ระหว่างผู้ที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข รวมทั้งตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปฯ อะไรที่ทำแล้วได้ประโยชน์สามารถเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม อะไรบ้างที่ยังเป็นปัญหาหรือข้อติดขัด

ที่สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง(สสม.)แห่งนี้นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความก้าวหน้าในการทำงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและเป็นสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นภายในเวลา 1 ปีหลังการปฏิรูปฯ ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับที่อื่นๆได้มาเรียนรู้และสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของบริบทในแต่ละพื้นที่ โดยจะมีกิจกรรมต่างๆที่เป็นการปฏิบัติจริงและได้นำมาใช้ขับเคลื่อนงานปฏิรูปฯเพื่อการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่มารับบริการ เพราะความรอบรู้ด้านสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไทยทุกคน การรู้จักและเข้าใจสุขภาพของตนเองทั้งในยามปกติและเจ็บป่วยจะสามารถช่วยให้ดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ด้านนายแพทย์โกเมนทร์ ทิวทองอนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขกล่าวว่าการทำงานคลินิกหมอครอบครัวถือเป็นหนึ่งในงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการทำงานคลินิกหมอครอบครัวคือประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจนสามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยในการทำงานคลินิกหมอครอบครัวนั้นได้นำความรอบรู้สุขภาพมาใช้แนะนำส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีทีมสหวิชาชีพเป็นผู้ให้การสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพครอบคลุมตลอดช่วงอายุวัย มุ่งเน้นการดูแลรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง จัดระบบสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสามารถสร้างทักษะในการจัดการตนเองให้ได้ เพื่อให้เกิดการควบคุมโรคที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อนและมีการจัดทำข้อมูลสถานะสุขภาพทั้งระดับบุคคล และระดับครอบครัวเพื่อให้รู้ปัจจัยเสี่ยง รวมถึงแนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพของคนในครอบครัวโดยแพทย์และทีมหมอครอบครัวต้องเข้าใจเรื่องราวประวัติชีวิตของประชาชนและครอบครัว รวมถึงเข้าใจเรื่องราวความสัมพันธ์เหล่านั้นเพื่อพัฒนาให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น

นายแพทย์เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองกรมอนามัยกล่าวเสริมว่าการมีความรอบรู้สุขภาพ เป็นความสามารถของบุคคลที่เกิดจากการทำความเข้าใจข้อมูลสุขภาพขั้นพื้นฐานและบริการที่จำเป็น ใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ซึ่งทางสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง(สสม.)มีกระบวนการทำงานที่จะช่วยให้ประชาชนหรือผู้มารับบริการได้รับการเสริมสร้างความรอบรู้สุขภาพในหลากหลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น การประเมินด้วยคำถาม 3 ข้อหรือ Ask me 3 (1.ปัญหาสุขภาพของฉันคืออะไร 2.ฉันต้องทำอะไรบ้าง 3.ทำไมฉันถึงต้องทำสิ่งต่างๆเหล่านั้น มันสำคัญอย่างไร) ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเกิดประโยชน์กับตัวคนไข้แล้วยังสามารถส่งต่อความรู้เหล่านั้นไปให้ภายในครอบครัวได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการสอนอ่านฉลาก , การสอนทำเมนูสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาเทคนิคในการสื่อสารทั้งในรูปแบบตัวอักษร รูปภาพ แผนที่และกิจกรรมที่จะช่วยประเมินคนไข้ก่อนกลับบ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าคนไข้เข้าใจข้อมูลและสามารถนำไปปฏิบัติเองได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ที่เรียกว่า teach back หรือสาธิตกลับ ฯลฯ

ร.ต.อำพล ประเสริฐศิลป์ ตัวแทนประชาชน อดีตผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ปัจจุบันไม่ต้องรับประทานยาเพราะหันมาปรับพฤติกรรมเปลี่ยนจากผู้ป่วยเป็นผู้ที่เคยป่วยกล่าวว่าตนเองเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากการมีความรอบรู้สุขภาพ จนสามารถสู้กับโรคเบาหวานได้เป็นผลสำเร็จ การมีความรอบรู้สุขภาพทำให้เรากล้าที่จะซักถามหมอเพื่อทำความเข้าใจกับโรคที่เราเป็นและวิธีการแก้ไข โดยนำวิธีการต่างๆที่หมอแนะนำมาใช้ปรับพฤติกรรมสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น เช่น การอ่านฉลาก การเลือกกินอาหารเมนูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม และท่าทางการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย หรือถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่หมอให้ก็สามารถสอบถามเพื่อความเข้าใจได้ และเมื่อเรามีสุขภาพที่ดีขึ้นก็ช่วยลดระยะเวลาการมาพบหมอลงไปไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ

————————————————————————————