ก.แรงงาน ร่วมกับอาชีวะ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เทรนเด็ก ปวส. 2 ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ฝึกประสบการณ์จริง 10 เดือน ย้ำ รู้จริง ทำงานเป็น
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประมาณความต้องการกำลังคน 5 ปีข้าหน้าของกระทรวงแรงงาน โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ ระหว่างปี 2558 –2568 พบว่ากลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ จะมีความต้องการแรงงานในระยะ 5 ปี จำนวนทั้งสิ้น 118,373 คน เป็นผู้จบการศึกษาระดับ ปวช./ ปวส.จำนวน 27,211 คน ที่เหลือต้องการผู้จบการศึกษาในระดับ ม.3 หรือต่ำกว่า และจบระดับปริญญาตรี,ปริญญาโท ในขณะที่ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ระดับที่ 1 (Tier 1) มีความต้องการแรงงานระยะ 5 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 339,153 คน เป็นในระดับ ปวช./ปวส. จำนวน 71,051 คน ที่เหลือต้องการผู้จบการศึกษาในระดับ ม.3 หรือต่ำกว่า และระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การพัฒนากำลังแรงงานของประเทศสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ที่มีความต้องการช่างฝีมือจำนวนมาก และ กพร.เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือให้กับแรงงานไทย จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดและในกรุงเทพมหานคร ร่วมกันขับเคลื่อนโดยใช้แนวทางประชารัฐ ดำเนินการฝึกทักษะให้กับคนทำงาน นักเรียน นักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถตรงกับความต้องการ โดยมีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาทักษะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ในปี 2561 จำนวน 9,800 คน ดำเนินการแล้ว 6,831 คน (ณ 14 พฤษภาคม 2561)
นายสุรพล พลอยสุข รองอธิบดี กพร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) เป็นหน่วยงานของ กพร. ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเป็น Excellence Center ด้านยานยนต์ จึงร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ยกระดับทักษะฝีมือให้แก่นักศึกษา ปวส.ปีที่ 2 ในสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีระยะเวลาการฝึกทั้งสิ้น 162 ชั่วโมง เนื้อหาประกอบด้วย การใช้งานโปรแกรม CAD/CAM สำหรับงานกัดและงานกลึง ทักษะงานช่างอุตสาหกรรมการ ไฟฟ้าเบื้องต้น การเชื่อม MAG สำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ Introduction (QCDS, 5S) และนิสัยอุตสาหกรรม มีวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 แห่ง ระยะเวลาการฝึกอบรมดังกล่าว มีการฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบกิจการ 10 เดือน โดยมีสถานประกอบกิจการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานถึง 15 แห่ง โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 มีนักศึกษาผ่านการอบรมจำนวน 63 คนและทุกคนมีงานทำ สำหรับในปี 2561 AHRDA มีเป้าหมายและดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วรวม 108 คน
ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน จะช่วยยกระดับฝีมือของแรงงานไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น นักศึกษามีความพร้อมเข้าสู่การทำงาน สถานประกอบกิจการได้พนักงานที่มีทักษะในการทำงานสูงและตรงกับความต้องการ สามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมให้แก่พนักงานใหม่ กรณีรับนักศึกษากลุ่มนี้เข้าทำงาน และหากทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจะมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่ง และเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชียได้ในที่สุด อธิบดี กพร. กล่าว