กระทรวงแรงงานของไทย นำโดยอธิบดีกรมการจัดหางาน ร่วมประชุมระดับวิชาการกับกระทรวงแรงงานของ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว และเมียนมา เพื่อหารือกำหนดแนวทางการดำเนินการกับแรงงาน 3 สัญชาติที่ทำงานในไทย หลังใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ในกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ และกลุ่มซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจึงได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ กัมพูชา ลาวและเมียนมา ในการจัดส่งแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามระบบ MOU โดยขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานอยู่ในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 3,240,988 คน แบ่งเป็น 1. แรงงานประเภทฝีมือ 161,642 คน (ทั่วไป : นักลงทุน ช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ 115,479 คน และ BOI 46,163 คน) 2. ตลอดชีพ 241 คน 3. ชนกลุ่มน้อย (จีนฮ่อ ฯลฯ) 62,015 คน 4. แรงงานประเภททั่วไป ได้แก่ 1) กลุ่มได้รับอนุญาตทำงาน (มีหนังสือเดินทาง) 1,784,640 คน (กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ 858,827 คน กลุ่ม MOU 925,813 คน) 2) ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานถึง 31 มีนาคม 2563 หรือ 1 พฤศจิกายน 2562 ตามมติ ครม. 16 ม.ค.2561 และ 27 มี.ค.2561 จำนวน 1,187,803 คน 3) ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานถึง 30 กันยายน 2562 ตาม พรก.การประมง ม.83 จำนวน 6,082 คน 4) ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในกิจการประมงทะเล 1 ปี ตามมติ ครม.6 พ.ย.2561 และ 29 ม.ค.2562 จำนวน 5,958 คน 5) เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล 32,607 คน
จากการที่ใบอนุญาตการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จะหมดอายุในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 และ 31 มีนาคม 2563 ทางการไทยจึงได้จัดการประชุมระดับวิชาการกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาวและเมียนมมา โดยได้หารือในประเด็นต่างๆ คือ 1. วิธีดำเนินการต่อไปกับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ทำงานในประเทศไทย ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 (ประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ)และวันที่ 31 มีนาคม 2563 2. การจ้างงานระยะสั้น 3. แนวทางดำเนินการกับแรงงาน 3 สัญชาติในการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งนี้ จะได้นำผลการประชุมกับทั้ง 3 ประเทศในครั้งนี้เสนอต่อคณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป นางเพชรรัตน์ฯ กล่าว