นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ โครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว โดยมีนายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และร้อยเอกสุภาพ มากสาคร นายกเทศมนตรีตำบลคลองหาด กล่าวต้อนรับ นายชัยยุทธ เหลืองบุศราคัม ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร. วันทนีย์ กัลล์ประวิทธ์ FAO, Dr Ronello Abila. OIE Sub-Reginal Representative ประจำประเทศไทย นายสุรชัย สุทธธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการกรมปศุสัตว์ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสระแก้ว และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
โรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนแต่เป็นโรคไวรัสที่ระบาดในสุกรอย่างรุนแรงและรวดเร็ว หากสุกรติดโรคแล้วจะทำให้สุกรตายทุกตัว เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ รวมถึงเชื้อโรคมีขนาดใหญ่จึงตายยาก ทำให้สามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือซากได้นานหลายเดือน
ปัจจุบันภาคการปศุสัตว์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ กำลังได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคนี้ แต่นับว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ หรือยานพาหนะที่ใช้บรรทุกนำเข้า-นำผ่าน-นำออกประเทศไทย อีกทั้งยังรวมถึงจากผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำติดตัวเข้ามา ที่อาจจะปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ประเทศ ซึ่งหากพบการระบาดของโรคดังกล่าวจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทยอย่างมาก และมีผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศด้วย
กรมปศุสัตว์มีภารกิจหลักในการดูแลเรื่องสุขภาพสัตว์และผลผลิตด้านปศุสัตว์ของประเทศไทย เพื่อให้ได้ผลผลิตด้านการปศุสัตว์ที่เพียงพอ มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันโรค ASF ในสุกร เพื่อป้องกันการระบาดเข้าสู่ประเทศไทย ดังนี้
- จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF ในสุกร (war room) ทั้งระดับกรมและระดับจังหวัด
- ประกาศให้ทุกจังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรค
- ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปและประชุมชี้แจงเกษตรกรถึงอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหาดเกิดการระบาดของโรคนี้
- ตรวจเยี่ยมฟาร์มสุกรทุกฟาร์มและให้คำแนะนำเพื่อปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบป้องกันโรคที่ดี
- ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวต่างชาติมิให้นำผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ติดตัวเข้ามาประเทศไทย
- ตรวจสอบและทำลายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินำติดตัวเข้ามา
- เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้า-นำผ่าน-นำออกตามด่านพรมแดนทุกแห่งของประเทศไทย
- เตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
- เสนอแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย และอนุมัติให้แผนดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเร่งด่วน ในปีงบประมาณ 2562
ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรคของยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์เข้าสู่ประเทศ ในจังหวัดชายแดนจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดเชียงราย และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดลำดับที่สองที่จัดทำพิธีส่งมอบและเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ตามความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ASF ในสุกรเข้าประเทศได้
ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว วันที่ 7 มิถุนายน 2562