วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และกลุ่มภาคเอกชน ประกอบด้วย นายรัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด ประธานมูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF), นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการโครงการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (สำนักงานประเทศไทย), นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และนายเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานกลยุทธ์และกิจการองค์กร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ตามกรอบมาตรการมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยแนวคิดการพัฒนาระบบอาหารเพื่อท้องถิ่น (Local Food System) การดำรงชีพอย่างยั่งยืน (sustainable livelihood) และความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)
นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจว่า กรมป่าไม้ได้เร่งรัดดำเนินงานตามแนวนโยบายรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้ราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้ “อยู่อาศัยและทำกินถูกต้องตามกฎหมายอย่างยั่งยืน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดยมีการมอบ “แผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่” ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานจะช่วยให้ราษฎรผู้เข้าร่วมโครงการมั่นใจและมั่นคงในการดำรงชีวิต สามารถประกอบอาชีพในพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ อีกทั้ง ภาครัฐยังสามารถแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ และ ๒ สำหรับการดำเนินการในวันนี้ (วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565) กรมป่าไม้ ได้ร่วมมือกับกลุ่มองค์กรและนักธุรกิจภาคเอกชน ในการพัฒนาพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นต้นแบบในการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ได้รับอนุญาตให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ครบทุกมิติ รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง การทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม สำหรับองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจด้านค้าปลีก และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จะได้ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดให้แก่ราษฎรในโครงการ เพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้กับราษฎรได้มีอาชีพทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำการเกษตรที่ยั่งยืน มีตลาดรองรับผลผลิต ได้ผลตอบแทนสูงกว่าการดำรงชีวิตแบบเดิมแบบครบวงจร ปรับเปลี่ยนการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาสู่การทำเกษตรในรูปแบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ ราษฎรในพื้นที่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมดุล
การร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกลุ่มพันธมิตร ได้แก่ มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF), องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (สำนักงานประเทศไทย), บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งทุกหน่วยงานต่างมุ่งหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน รวมถึงรักษาทรัพยากรป่าไม้ของประเทศให้คงอยู่อย่างสมดุล อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว นอกจากสะท้อนแนวนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินของราษฎรให้เป็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังเป็นการประยุกต์แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่หรือเศรษฐกิจสีเขียว BCG (Bio- Circular- Green Economy) ของรัฐบาล สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ทั้งนี้ ตนได้หารือกับพันธมิตรในการขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงการถอดบทเรียนในพื้นที่ต้นแบบแห่งนี้ เพื่อพัฒนาต่อยอดสู่การดำเนินงานในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติพื้นที่อื่น ต่อไป อนึ่ง ตนต้องขอขอบคุณพันธมิตรทุกหน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ของประเทศให้สามารถคงอยู่อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ติดตามและดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับทุกภาคส่วนและสำรวจพื้นที่อื่นที่มีความพร้อมในการขยายผลการดำเนินงาน โดยคาดว่าจะมีอีกหลายชุมชนที่มีความต้องการร่วมโครงการ ซึ่งกรมป่าไม้จะได้ประสานงานและเร่งรัดดำเนินงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป นายสุรชัย กล่าวในที่สุด