นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และหอประชุมกองทัพเรือ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินกิจกรรมการแสดงสำหรับการจัดงานเลี้ยงรับรองการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ หอประชุมกองทัพเรือ นั้น วธ.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ วงดุริยางค์จาก 4 เหล่าทัพ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานภายในสังกัดวธ. ไม่ว่าจะเป็น สำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒศิลป์ จัดการแสดงภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงาน APEC Thailand 2022 คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล Open Connect Balance” ร้อยเรียงเรื่องราวอันงดงาม ถ่ายทอดเป็นผลงานการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมที่งดงามประกอบฉาก แสง สี เสียง
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า สำหรับองค์ที่ 1 : OPEN TO ALL OPPORTUNITIES เป็นการบรรเลงบทเพลงโดยวงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ พร้อมวงดนตรีไทยร่วมสมัยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประกอบกับการขับร้องเพลงโดยศิลปินระดับแนวหน้าของไทย ได้แก่ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ , ต๊งเหน่ง รัดเกล้า อามระดิษ , วิน วศิน พรพงศา , ปุ้ย ดวงพร พงศ์ผาสุก และกิต กิตตินันท์ ชินสําราญ ร่วมขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ บทเพลงไทย เพลงสากล และเพลงร่วมสมัย องค์ที่ 2 : CONNECT IN ALL DIMENSIONS การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทยร่วมสมัยจากดีไซน์เนอร์เขตเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขต องค์ที่ 3 : BALANCE IN ALL ASPE CTS ประกอบด้วย การร้อยเรียงศิลปวัฒนธรรมถ่ายทอดในรูปแบบการแสดงประเพณีดั้งเดิม และการแสดงร่วมสมัย ภายใต้แนวคิดหลักของการประชุม “Open. Connect. Balance.” และตราสัญลักษณ์ สำหรับการประชุม “ชะลอม” ผ่านการแสดงจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ประกอบกับ “ประเพณีลอยกระทง” ของประเทศไทยอันเกี่ยวเนื่องกับการแสดงความเดารพบูชา “สายน้ำ” เป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงทุกเขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกันสู่ความสมดุล
นายอิทธิพล กล่าวต่อด้วยว่า การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมแสดงถึงคุณค่าความงดงามจากท้องถิ่นสู่ระดับนานาชาติ อาทิ การแสดงภาคเหนือ การฟ้อนร่ม การแสดงกิงกะหร่า เต้นโต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หน้ากากผีตาโขน บ่าวขาลาย ถือหางนกยูง ฟ้อนภูไท เซิ้ง ถือบั้งไฟ เชิดพญานาค สะท้อนถึงความสนุกสนานรื่นเริง ภาคใต้ โนรา ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จาก UNESCO หนังตะลุง ตารีบุหงา ในส่วนของภาคกลาง จะมีการแสดงโขน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย ปิดท้ายค่ำคืนด้วยบรรยากาศเทศกาลลอยกระทง สัมผัสประสบการณ์การลอยกระทง รับชมการจัดแสดงประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับสายน้ำของไทย ไม่ว่าจะเป็น ลอยกระทง ลอยกระทงสาย และไหลเรือไฟ ในแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำสายสำคัญของไทย
นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไทยได้เตรียมของที่ระลึก สำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และสมรส เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริง ใช้ซ้ำได้ รวมถึงให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจนำไปตั้งอยู่ในทำเนียบรัฐบาลหรือสถานที่สำคัญของประเทศเขตเศรษฐกิจนั้นๆ เพื่อเป็นที่ระลึกว่าเอเปค 2022 จัดขึ้นที่ประเทศไทย อีกทั้งเป็นการบ่งบอกถึงวัฒนธรรมไทย 7 รายการ โดย 3 ชิ้นแรก เป็นของที่ระลึกที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้อย่างคุ้มค่าตามแนวคิดลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน ที่สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า ประกอบด้วย 1.ภาพดุลโลหะ “รัชตะแสนตอก” สำหรับมอบให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจ ภาพพระบรมมหาราชวังและกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคจากมุมมองของผู้นำที่จะได้ชมจากหอประชุมกองทัพเรือในค่ำคืนของงานเลี้ยงรับรอง ใช้เทคนิคดุนลายหรือตอกเงินบนแผ่นโลหะรีไซเคิล ประกอบกับกรอบไม้ยางพารา ผลิตจากชุมชนวัวลาย วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบคุณธรรม “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ของกระทรวงวัฒนธรรม 2.กล่องใส่เครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก” (สำหรับคู่สมรส) เป็นลวดลายสอดรับกันกับภาพดุลโลหะของผู้นำเขตเศรษฐกิจ กล่องเป็นไม้ยางพารา ด้านในบุเป็นผ้าไหมไทย 3.Accessories Box หรือ ชุดผลิตภัณฑ์ผ้า “จตุราภรณ์” เป็นผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติด้วยสีจากเปลือกมะพร้าว จาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พิมพ์ลาย “ชะลอม” ร้อยเรียงขึ้นเป็นลายไทยประจำยาม จตุราภรณ์ ด้านในประกอบด้วย เนคไทล์ หน้ากากอนามัย ผ้าเช็ดหน้า และผ้าคลุมไหล่
นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดเตรียมของที่ระลึกอันทรงคุณค่าจากศิลปหัตถกรรมชั้นสูงจากสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มอบให้ผู้นำและคู่สมรส มีจำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย 1.กรอบรูปถมเงิน พร้อมภาพพระราชทานของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในระหว่างการเข้าเฝ้าฯ 2.กล่องลิเภาเลี่ยมขอบเงิน ตกแต่งเงินลงยาสี โดย “ลิเภา” หรือ “ย่านลิเภา” (ตามภาษาท้องถิ่นภาคใต้) ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่จัดทำขึ้นในวาระพิเศษครั้งนี้อีก 2 รายการ ประกอบด้วย 1.สมุดรายนามผู้ผลิตผ้าไหมและผู้ประกอบการทั่วประเทศ ฉบับพิเศษ หรือใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai Silk for All”ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” เป็นการนำเสนอและส่งเสริมผ้าไทยในระดับนานาชาติผ่านการประชุมเอเปค 2022 ครั้งนี้ เกิดการต่อยอด สร้างมูลค่าทางเศษฐกิจ และยกระดับผ้าไทยไปสู่เวทีโลก 2.เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระเกียรติคุณให้แผ่ไพศาลไปทั้งในประเทศและนานาประเทศ รวมทั้งเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย และเผยแพร่ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ไทยจะแสดงให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจได้เห็นถึงความงดงามของศิลปวัฒนธรรมและสถานที่อันสวยงามของประเทศไทย ผ่านงาน Soft Power ให้เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในระดับเวทีโลก