ระวังหนอนใยผักบุกแปลงกวางตุ้ง

สภาพอากาศร้อนชื้น ท้องฟ้ามืดครึ้มสลับกับมีแสงแดดจัดบางช่วงของวัน ฝนตกหนักและมีลมแรงบางพื้นที่ในระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกกวางตุ้งเฝ้าระวังการระบาดของ หนอนใยผัก สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของกวางตุ้ง เริ่มแรกพบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่บนใบและใต้ใบพืชเป็นฟองเดี่ยวหรือกลุ่มเล็ก ส่วนใหญ่จะพบไข่ที่ใต้ใบพืช หนอนมีตัวเรียวยาว หัวแหลมท้ายแหลม ส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็นสองแฉก เมื่อถูกตัวหนอนจะดิ้นอย่างแรง และสร้างใยพาตัวเองขึ้นลงระหว่างพื้นดินกับใบพืชได้ หนอนจะเข้าทำลายกัดกินผิวใบ ทำให้ใบผักเป็นรูพรุนคล้ายร่างแห จากนั้นหนอนจะชักใยบางๆ คลุมตัวไว้ติดอยู่กับใบพืชเพื่อเข้าดักแด้

ให้เกษตรกรใช้วิธีป้องกันกำจัดหนอนใยผักแบบผสมผสาน คือ การใช้วิธีกล การใช้ศัตรูธรรมชาติ การใช้วิธีเขตกรรม และการใช้สารเคมี สำหรับวิธีกล แบบใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เป็นกับดักทรงกระบอก หรือกระป๋องน้ำมันเครื่องสีเหลืองทาด้วย กาวเหนียว ให้ติดตั้งกับดัก อัตรา 80 กับดักต่อไร่ โดยเฉลี่ยจับผีเสื้อหนอนใยผักได้ 16 ตัวต่อวันต่อกับดัก และเปลี่ยนกับดักทุก 7-10 วันครั้ง จะสามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงได้มากกว่า 50% แบบใช้กับดักแสงไฟ เป็นหลอดเรืองแสงสีน้ำเงิน 20 วัตต์ ที่เหมาะสมในการใช้จับผีเสื้อหนอนใยผักมากที่สุด มีราคาถูกกว่าหลอด blacklight-blue 20 วัตต์ และปลอดภัยไม่มีอันตรายจากแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ในการติดตั้งกับดักแสงไฟควรติดตั้งรอบนอกแปลงผัก และควรดำเนินการติดตั้งพร้อมกันในพื้นที่ แบบใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง ให้ปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายไนล่อนขนาด 16 mesh (256 ช่องต่อตารางนิ้ว) จะสามารถป้องกันหนอนใยผักและหนอนผีเสื้อชนิดอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโรงเรือนตาข่ายไนล่อนต้องปิดมิดชิดตลอดเวลา เพื่อป้องกันผีเสื้อเพศเมียเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ได้

การใช้ศัตรูธรรมชาติ ให้เกษตรกรใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสทูริงเยนซิส อัตรา 100-200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ไม่ควรใช้ในแหล่งปลูกผักภาคกลาง ในช่วงที่ระบาดมากพิจารณาการใช้อัตราสูงและช่วงเวลาพ่นถี่ขึ้น หรือพ่นสลับกับสารเคมี การใช้วิธีเขตกรรม ให้ไถพรวนดินตากแดด หรือทำลายซากพืชอาหาร หรือปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อลดการขยายพันธุ์และลดการระบาดอย่างต่อเนื่อง การใช้สารเคมี ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงสไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอินดอกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 60-80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโทลเฟนไพแร็ด 16% อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ควรพ่นสารสลับชนิดกัน และไม่พ่นสารชนิดเดียวเกิน 2-3 ครั้งต่อฤดู หากระบาดลดลงให้ใช้สารเคมีสลับกับการใช้ศัตรูธรรมชาติ เนื่องจากหนอนใยผักสามารถสร้างความต้านทานต่อสารเคมีได้รวดเร็วและหลายชนิด ให้เกษตรกรพิจารณาเลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผักไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้ตามความเหมาะสม

ที่มา กรมวิชาการเกษตร