สธ.ร่วมพัฒนาการวิจัยและประยุกต์ใช้การแพทย์แม่นยำ

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประชุม “Genomic Thailand Inception Workshop” หารือแนวทางวิจัยและประยุกต์ใช้การแพทย์จีโนมิกส์ ขับเคลื่อนแผนพัฒนาการแพทย์แม่นยำ ตั้งเป้าเป็นผู้นำอาเซียนภายใน 5 ปี คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น

วันที่ 7 มิถุนายน 2562 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม “Genomic Thailand Inception Workshop” ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่าย หารือแนวทางดำเนินงานแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ.2563 – 2567 และตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำการแพทย์จีโนมิกส์ของอาเซียนภายใน 5 ปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้พัฒนาเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ที่เรียกว่าจีโนมิกส์ โดยจะทำการสุ่มตรวจรหัสพันธุกรรมจำนวน 50,000 คน ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคที่หายาก ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยที่แพ้ยากันชัก และผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อนำข้อมูลพันธุกรรมมาใช้ในทางการแพทย์ร่วมกับข้อมูลสุขภาพอื่นๆ ในการตรวจวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรค ทำให้การรักษามีความแม่นยำและจำเพาะรายบุคคลมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาหายและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการรักษาพยาบาลที่เปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ของประเทศ

ทั้งนี้มีศูนย์เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ที่มหาวิทยาลับูรพา โดยได้วางแนวทางดำเนินงาน ได้แก่ การวิจัยและประยุกต์ใช้ การบริการ การวิเคราะห์และจัดการข้อมูล และการผลิตและพัฒนาบุคลากรภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์แม่นยำ ให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์จีโนมิกส์ที่มีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคลอย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยแผนฯ ดังกล่าว ได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 และได้รับอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการวงเงิน 4,470 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 1 ปีจะเห็นความก้าวหน้าของโครงการเพิ่มมากขึ้น

“การแพทย์ระดับจีโนมิกส์จะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศ เป็นการขยายโอกาสในการแข่งขันกับอารยประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นผู้นำในการให้บริการทางการแพทย์แบบครบวงจรในภูมิภาค การประชุมครั้งนี้ เป็นก้าวแรกของแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ร่วมมือกันพัฒนาด้านการวิจัย การให้บริการทางการแพทย์บนพื้นฐานการแพทย์จีโนมิกส์ การให้บริการการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานดีขึ้น และประชาชนของประเทศสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน” ศาสตราจารย์ คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าว