108 ปีการประปาไทย กปน. ชวนรู้จักระบบการผลิตน้ำประปาในยุคเริ่มแรก

นับเป็นเวลา 108 ปีแล้วที่กิจการประปาเกิดขึ้นในประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดกิจการ “การประปากรุงเทพฯ” อย่างเป็นทางการ  จวบจนวันนี้ พัฒนาการของน้ำประปาเดินทางผ่านยุคสมัยต่าง ๆ วิถีชีวิตของผู้คนมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น ลดการเกิดโรคระบาด สร้างการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเรื่อยมา

การประปานครหลวง (กปน.) ชวนทุกท่านไปรู้จักระบบผลิตน้ำประปาในยุคเริ่มแรก ซึ่งเกิดพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตระหนักว่าน้ำสะอาดมีความสำคัญต่อทุกชีวิตในสังคม

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ประชาชนอาศัยน้ำฝนและน้ำในแม่น้ำลำคลองในการอุปโภค และบริโภค บางครั้งก็เกิดโรคระบาดล้มตายเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการฯ ประกาศกำหนดจัดการประปาเมื่อปี พ.ศ. 2440 ให้จัดทำน้ำบริโภค โดยขุดคลองส่งน้ำจากบริเวณคลองเชียงรากแขวงเมืองปทุมธานี (แม่น้ำเจ้าพระยา) มาถึงคลองสามเสน และตั้งโรงกรองน้ำที่สามเสน เพื่อนำน้ำมาใช้ในพระนคร

กระบวนการผลิตน้ำประปาในขั้นตอนแรก คือการใช้เครื่องสูบน้ำดิบ สูบน้ำจากคลองประปามาเก็บที่อาคารโรงสูบน้ำ จากนั้น น้ำจะเดินทางสู่ถังตกตะกอน ซึ่งทำด้วยคอนกรีตกว้าง 22 เมตร ยาว 25 เมตร สูง 6.5 เมตร จุน้ำได้ประมาณ 750 ลูกบาศก์เมตร ภายในมีแผ่นคอนกรีตกั้นไว้เป็นทางให้น้ำไหลวนขึ้นลง ใช้สารส้มก้อนซึ่งทำละลายเรียบร้อยแล้วใส่ลงไปทำปฏิกิริยากับน้ำดิบ เกิดเป็นเม็ดตะกอนสะสมบริเวณพื้นถัง และน้ำใสจะถูกส่งต่อไปที่โรงกรองน้ำ

เครื่องกรองน้ำในยุคก่อน เป็นเครื่องกรองน้ำแบบอเมริกัน ที่เรียกว่า UL Filter เป็นถังเหล็กทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 5.20 เมตร บรรจุทรายหนา 1 เมตร และกรวดเล็กน้อย ใต้ชั้นกรวดมีหัวกรองน้ำทำด้วยทองเหลืองติดอยู่ สามารถกรองน้ำบริสุทธิ์ได้ 100 ลูกบาศก์เมตร / ชั่วโมง / เครื่อง

จากนั้น น้ำจะถูกส่งไปที่ถังเก็บน้ำใส ซึ่งทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 36 เมตร ยาว 54 เมตร สูง 3 เมตร มีปล่องระบายอากาศติดมุ้งลวดกันแมลงหรือสัตว์อื่น ๆ ลงไป และบนถังเก็บน้ำใสจะมีโรงจ่ายคลอรีนสำหรับฆ่าเชื้อโรคที่อาจหลงเหลือจากการกรองด้วย และในขั้นตอนสุดท้าย เครื่องสูบน้ำประปาจะทำหน้าที่สูบจ่ายน้ำประปาที่ผ่านกระบวนการผลิตไปยังถังสูงพักน้ำ เพื่อทำให้น้ำประปามีแรงดันไหลไปสู่สถานที่ต่าง ๆ ในพระนคร

ปัจจุบันนี้ระบบการผลิตน้ำของ กปน. มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปตามเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยขึ้น โดยนำแผนน้ำประปาปลอดภัย (Water Safety Plan) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาควบคุมคุณภาพน้ำทุกขั้นตอน ตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ โรงงานผลิตน้ำ จนถึงบ้านเรือน พร้อมระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำประปาอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง สามารถผลิตน้ำได้ถึงประมาณ 6,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากโรงงานผลิตน้ำทั้ง 4 แห่ง คือ

– โรงงานผลิตน้ำบางเขน

– โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

– โรงงานผลิตน้ำสามเสน

– โรงงานผลิตน้ำธนบุรี

ครอบคลุมการบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่ง กปน. ยังคงมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานของ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ในการให้บริการน้ำประปาที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย เพื่อสุขอนามัยที่ดีของคนไทย ดังพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด การประปากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 ความตอนหนึ่งว่า

“ขอให้น้ำใสอันจะหลั่งไหลจากประปานี้ จงเป็นเครื่องประหารสรรพโรคร้าย ที่จะให้ร้ายเบียดเบียนแก่ประชาชน ผู้เป็นพสกนิกรของเรา ขอให้น้ำอันนี้ที่ได้รับพรแล้ว โดยพระสงฆ์ได้สวดมนตร์และโดยเราตั้งใจให้พร จงบันดาลให้เป็นน้ำมนตร์ ทำให้ประชาชนมีความสุขสวัสดิ์ผ่องแผ้ว เจริญทั่วทุกตัวคน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”