วันที่ 6 มิถุนายน 2562, อาคารดีป้า ลาดพร้าว – กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และ สถาบันการศึกษา 20 แห่ง จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือเรื่องการพัฒนาบุคลากรเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลภาครัฐ ภายใต้การดำเนินการของสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute: GBDi) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษาและประชาชนใช้ เพื่อร่วมกันสร้างความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างเครือข่ายพัฒนาบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และนำข้อมูลมหาศาลที่มีอยู่มาบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อการวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Data Science ในประเทศไทย โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธี
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในพิธี กล่าวว่า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนหมู่มาก ซึ่งก่อให้เกิดข้อมูลในปริมาณมหาศาลและเติบโตอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกว่า บิ๊กดาต้า (Big Data) ซึ่งเป็นโอกาสของรัฐบาลที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน แต่การจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ที่ต้องปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลานั้น จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะและความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ Data Scientist ซึ่งปัจจุบันความต้องการบุคลากรประเภทนี้ ทั้งในภาครัฐและเอกชนมีปริมาณที่สูงมาก แต่กลับมีจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในภาครัฐที่สูญเสียบุคลากรกลุ่มนี้ให้กับภาคเอกชนและต่างประเทศ เนื่องจากมีการให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน การพัฒนากำลังคนด้านการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน
ด้าน รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล Big Data Experience เผยว่า สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute: GBDi) ได้จัดตั้งขึ้นเป็นสถาบันภาครัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เน้นด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) โดยสถาบันฯ ได้มีการระดมบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลน ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรข้อมูลให้เข้ามาร่วมทำงาน โดยสถาบันฯ
จัดตั้งในรูปแบบหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ภายใต้การกำกับดูแลของดีป้า ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่มีความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวในการทำงานสูง อีกทั้ง GBDi ยังให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าภาครัฐทั่วไป ซึ่งสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานได้มากกว่าระบบภาครัฐแบบดั้งเดิม โดยตั้งเป้าให้สถาบันฯ เป็นหน่วยงานกลางสำหรับให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษาและประชาชนใช้ เพื่อสร้างความเป็นเลิศในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของประเทศไทย พร้อมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐสร้างวัฒนธรรมการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจ การวางนโยบาย การกำหนดแผน (Data Driven Decision) และการดำเนินงานขับเคลื่อนแผน (Insight to Operation) รวมถึงการให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ (Business and Citizen Services) อีกด้วย และมุ่งเน้นในการยกระดับขีดความสามารถด้านการจัดเก็บ เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ข้อมูลในเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้เพื่อเป็นการขยายกำลังในการทำงาน ทางสถาบันฯ ยังพร้อมเปิดรับนักวิทยาศาตร์ข้อมูลและวิศวกรข้อมูลเข้ามาร่วมทำงานด้วยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเครือข่ายความร่วมมือเรื่องการพัฒนาบุคลากรเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาครัฐมีบุคลากรที่สามารถบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสร้างคุณค่าร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งสามารถวิเคราะห์และนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงให้กับสังคม และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเครือข่ายประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ และ สถาบันการศึกษา รวม 21 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(องค์การมหาชน), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย- เกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัย-รังสิต, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)