กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ความสำคัญของการคุมกำเนิด แก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นที่ส่งผลต่อคุณภาพของเด็กไทย ทั้งน้ำหนักแรกเกิด พัฒนาการ และไอคิว แนะยาฝังคุมกำเนิดวิธีการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นไทย ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไข ที่ผ่านมาเด็กที่เกิดมายังด้อยคุณภาพ มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 2,500 กรัม ไม่เจริญเติบโตตามวัย พัฒนาการล่าช้าและสงสัยจะล่าช้าถึงร้อยละ 30 ส่งผลต่อไอคิวของเด็กที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวันรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยในกลุ่มเด็กอายุ 15 – 19 ปี 1,000 คน จะมีคนที่ตั้งครรภ์อยู่ถึง 40 คน ต่อการตั้งครรภ์ต่อปี และในจำนวนนี้ยังมีผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมอยู่ด้วย การคุมกำเนิดจึงจำเป็นสำหรับวัยเจริญพันธุ์ในระยะที่ไม่พร้อม ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 10 ปีบริบูรณ์ จนถึงก่อน 20 ปีบริบูรณ์ กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งบรรจุเป็นแผนงานระดับประเทศเพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร โดย สปสช.ได้สนับสนุนการให้บริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรให้แก่ประชาชนไทยเพศหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ทุกสิทธิที่อยู่ในภาวะหลังคลอด แท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด สามารถขอรับบริการได้ที่สถานบริการในเครือข่ายของ สปสช.ทั่วประเทศ โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถขอรับบริการคุมกำเนิดแบบห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิดได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในเครือข่ายของ สปสช.ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และการตั้งครรภ์ซ้ำในกลุ่มวัยรุ่นหลังคลอด หรือแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลา 3 ปี และ 5 ปี ตลอดจนกลับสู่ภาวะเจริญพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วภายหลังการหยุดใช้ และไม่มีผลรบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีกลไกการป้องกันการคุมกำเนิด คือ ฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาจากแท่งยาฝัง ที่อยู่ใต้ผิวหนังใต้ท้องแขน มีผลทำให้ฟองไข่ไม่สามารถโตต่อไปจนตกไข่ได้ จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ ฮอร์โมนยาฝังคุมกำเนิดนี้ยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้เชื้ออสุจิว่ายผ่านเข้าไปได้ยาก จึงช่วยลดโอกาสการผสมไข่ สตรีที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิดจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า 1 ใน 2,000
“ทั้งนี้ นอกจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ให้เข้าถึงบริการคุมกำเนิดชนิด กึ่งถาวรแล้ว ยังมีการแก้ไขปัญหานี้ด้วยมาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 5 เรื่องที่สำคัญ คือ 1) สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหาและพัฒนาผู้สอนเพศวิถีศึกษา การให้คำปรึกษา ช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 2) สถานบริการต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 3) สถานประกอบกิจการต้องให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมให้เข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 4) การจัดสวัสดิการสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ 5) ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจ ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ