โครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ผ่านการพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็ม ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมของเยาวชนสู่การเป็นกำลังคนที่มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งการจัดประกวดได้มีมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว และเป็นจุดกำเนิดเมกเกอร์เยาวชนรุ่นใหม่หลายพันคนจากโครงการฯ นี้
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า “ในสถานการณ์ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมโลกกำลังมุ่งไปสู่ยุค 4.0 บุคลากรที่เป็นที่ต้องการจำนวนมากในขณะนี้ คือเยาวชนรุ่นใหม่จากอาชีวศึกษาและช่างเทคนิคที่มีทักษะเฉพาะด้านที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ศตวรรษที่ 21 ดังนั้น ภารกิจหลักของอาชีวะ คือ มุ่งหาแนวทางเพิ่มปริมาณและคุณภาพนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ส่งเสริมการศึกษาและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันและปลูกฝังแนวคิดให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญของการมีทักษะสะเต็ม จนนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมและสร้างเสริมรายได้ให้กับชุมชน ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นวัตกรรมมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับหลักยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศไทยในการเป็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”
นายชัยมงคล เสนาสุ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “สวทช. มีบทบาทและหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรวิจัยของประเทศ รวมถึงส่งเสริมและการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความเข้าใจในทักษะด้านสะเต็ม ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาที่พบเห็นในชีวิตจริง เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นทักษะสำคัญนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต ตอบสนองการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน สำหรับโครงการนี้ มีผู้สมัครทั้งจากสายสามัญ และอาชีวศึกษาเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกๆ ปี ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เยาวชนไทยเกิดแรงบันดาลใจสนใจเรียนรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ อันจะนำไปสู่เป้าหมายการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต และสร้างวัฒนธรรมเมกเกอร์ ซึ่งหน้าที่สำคัญของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องช่วยกันส่งเสริม และสืบสานเจตนารมณ์นี้ต่อไป”
ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” อย่างต่อเนื่อง และมีความยินดีอย่างยิ่งที่มีโครงการนี้มีส่วนช่วยจุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และปลูกฝังความเป็นนักประดิษฐ์ หรือที่เรียกกันว่า ‘เมกเกอร์’ ให้กับเยาวชนไทย รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้วัฒนธรรมเมกเกอร์ หรือ Maker Culture มีการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง มีเมกเกอร์สเปซ (Maker Space) หรือพื้นที่ในการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้เพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ และดึงดูดเมกเกอร์รุ่นใหม่เข้ามาเพื่อก่อให้เกิดสังคมนวัตกรรมในประเทศไทย อันเป็นปัจจัยหลักที่จะนำพาประเทศไปสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
สำหรับ ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 4” ภายใต้แนวคิด “Social Innovation นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” ในปีนี้ ได้แก่ เครื่องล้างหอยนางรมเคลื่อนที่ เครื่องล้างและอัดจาระบีตลับลูกปืนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอุปกรณ์ตัดสัปปะรด ในไร่ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เครื่องกลเติมอากาศบำบัดน้ำเสียพลังงานแสงอาทิตย์ และเรือลมจักรยานน้ำเก็บขยะรักษาสิ่งแวดล้อม ในคูน้ำ ลำคลอง เพื่อสุขภาพ (เรือลมจักรยานน้ำเก็บขยะ) จากวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา
โครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียน-นักศึกษาสายวิชาชีพ ระดับไม่เกินปริญญาตรี (สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษา และนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญระดับไม่เกินปริญญาตรี สามารถส่งใบสมัครและเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์เพื่อเข้าประกวดโดยส่งประกวดเป็นกลุ่ม ประกอบด้วยนักเรียน-นักศึกษา 2 คน และที่ปรึกษาโครงการ 1 คน โดยกรอกข้อมูลการสมัครพร้อมแนบข้อเสนอใครงการที่ https://www.nstda.or.th/sims/login/ หรือเฟซบุ๊กเพจ Enjoy Science: Young Makers Contest ส่งใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2562
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.