ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. เผยราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากภัยธรรมชาติ ภาวะเงินบาทอ่อนค่าและช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้งขาวแวนนาไมและโคเนื้อ ส่วนสินค้าเกษตรที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 9,482 – 9,735 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.61 – 4.32 เนื่องจากสต็อกข้าวเหนียวของผู้ประกอบการลดลง ทำให้ผู้ประกอบการเร่งซื้อข้าวเปลือกเหนียวนาปีในช่วงที่กำลังออกสู่ตลาด น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 18.81 – 18.98 เซนต์/ปอนด์ (15.90 – 16.05 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.86 – 1.77 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการลดกำลังผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ที่ส่งผลดีต่อราคาเอทานอล ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากกว่าผลิตน้ำตาล และคาดว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลของบราซิลและอินเดียอาจลดลงจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณในการเก็บเกี่ยวและเวลาในการหีบอ้อยลดลง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลลดลงไปด้วย มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.65 – 2.75 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.32 – 6.18 เนื่องจากความต้องการใช้มันสำปะหลัง ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศจีน ประกอบกับภาวะเงินบาทอ่อนค่า จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้การส่งออกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 5.04 – 5.29 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.79 – 6.65 เนื่องด้วยผลผลิตปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญของประเทศ รวมไปถึงปัญหาโรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมันและปาล์มน้ำมันขาดคอ ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น สุกร ราคาอยู่ที่ 104.73 – 105.08 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.76 – 1.10 เนื่องด้วยปัญหาสุกรขาดแคลนในประเทศคู่ค้า ทำให้ความต้องการเนื้อสุกรของประเทศคู่ค้าหลักอย่างประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสุกรไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุจากเกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกรต้องลงทุนฟื้นฟูฟาร์มและป้องกันโรคในสุกรเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคที่มากับน้ำ ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรขุนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นถึง 300 – 500 บาทต่อตัว กุ้งขาวแวนนาไม (70 ตัว/กก.) คาดว่า ราคาอยู่ที่ 129.18 – 132.22 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.52 – 4.94 เนื่องจากความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น จากการเริ่มฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ปริมาณการบริโภคกุ้งขาวแวนนาไมมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 99.50 – 100.26 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.11 – 0.88 เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยที่เริ่มคลี่คลาย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรว่าจะมีแหล่งอาหารเพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์จึงยังไม่เร่งจำหน่ายโคเนื้อออกสู่ตลาด ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวและมาตรการขยายเวลาให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพำนักในประเทศไทย ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการบริโภคเนื้อโคปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,995 – 9,032 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.03 – 1.45 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าร้อยละ 65 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ส่งผลให้ราคาปรับตัวลง อย่างไรก็ตาม อิรักยังคงมีคำสั่งซื้อข้าวไทยจนถึงเดือนพฤศจิกายนและแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าจะยังเป็นปัจจัยในการสนับสนุนการส่งออกข้าวของไทย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 9.25 – 9.29 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.75 – 1.18 เนื่องจากเป็นเดือนที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดมากที่สุดกว่า 1.57 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 31.62 ของปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดในปีการผลิต 2565/66 จึงส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวลดลง