สิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทย กฟผ. คว้า 12 รางวัล จากเวทีนานาชาติ iENA2022

กฟผ. ยกขบวนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมคว้า 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง และ 6 รางวัลพิเศษจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA2022)

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการผลิตและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและดูแลสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทีมนักวิจัยและนักประดิษฐ์ กฟผ. คว้า 12 รางวัลจาก 6 ผลงาน ในเวที “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2022) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญในสหภาพยุโรป มีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงมากกว่า 500 ผลงาน จาก 26 ประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย โดยรางวัลที่ กฟผ. ได้รับแบ่งเป็นเหรียญทอง 2 รางวัล เหรียญเงิน 1 รางวัล เหรียญทองแดง 3 รางวัล และรางวัลพิเศษจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 3 รางวัล สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) 1 รางวัล สาธารณรัฐโปแลนด์ 1 รางวัล และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน 1 รางวัล

รางวัลเหรียญทอง จากผลงานหุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่องานบำรุงรักษาสายส่ง แก้ไขอุปกรณ์ Vibration Damper บนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่หลุดเลื่อนเพราะกระแสลมให้กลับเข้าสู่จุดติดตั้งปกติโดยไม่ต้องดับกระแสไฟฟ้า จึงไม่กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนและภาคเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้ผลงานนี้ได้รับรางวัลพิเศษจากสาธารณรัฐโปแลนด์ส่วนอีกหนึ่งผลงานคือ นวัตกรรมเครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียดสู่การใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของชุมชน สามารถกำจัดผักตบชวาได้มากถึง 20,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ. ได้นำนวัตกรรมไปช่วยกำจัดผักตบชวาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนมาแล้ว นอกจากนี้ผักตบชวาที่ผ่านการบดละเอียดแล้วยังสามารถนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพและเชื้อเพาะเห็ดได้อีกด้วย ซึ่งผลงานนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามด้วย

รางวัลเหรียญเงิน จากผลงานการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าด้วยBIG Data และ Machine Learning ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเครื่องกังหันก๊าซและกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าน้ำพองคิดเป็นมูลค่า 162.9 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 26,850 ตัน และได้รับรางวัลพิเศษจากสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

รางวัลเหรียญทองแดง จากผลงานระบบติดตาม Parameter ที่สำคัญของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 ผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นระบบที่ใช้สำหรับในการตรวจติดตามค่าต่าง ๆ ในโรงไฟฟ้า เมื่อเกิดเหตุขัดข้องระบบจะแจ้งเตือนไปยังพนักงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขทันที ชุดตรวจเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์มในน้ำดื่มและน้ำแข็งแบบแคปซูล สำหรับตรวจหาเชื้อก่อโรคที่ปะปนอยู่ในน้ำเพียงสังเกตการเปลี่ยนสีของน้ำจึงช่วยป้องกันโรคทางเดินอาหาร ซึ่งทั้ง 2 ผลงานยังได้รับรางวัลพิเศษจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามด้วย และตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันลบและบวก ที่คิดค้นขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการเก็บสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยยังได้รับรางวัลพิเศษจากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

“ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ กฟผ. จึงพร้อมเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศ ส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่อเพิ่มความมั่นคงระบบไฟฟ้า ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยสู่ความยั่งยืนต่อไป” รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวย้ำในตอนท้าย