นายกรัฐมนตรีร่วมลอยกระทงวิถีใหม่ วธ.จัดโชว์สาธิตการทำกระทง เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมประเพณีลอยกระทงที่ทรงคุณค่าให้คงอยู่สืบไป

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และภริยา คณะรัฐมนตรีและคู่สมรส ผู้มีเกียรติร่วมงาน “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสาน ประเพณีไทย สู่ความยั่งยืน” จัดโดยรัฐบาล โดยสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม มีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคู่สมรส นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการและสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ คลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ภายในงานมีการสาธิตการทำกระทง การจัดแสดงกระทงแบบราชสำนัก และกระทง 4 ภาค การแสดงศิลปวัฒนธรรม ชุด สยามภิรมย์ธาราและการแสดงเพลงเรือ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การจำลองวิถีชีวิตตลาดน้ำ บรรยากาศภายในงานนายกรัฐมนตรีและภริยา คณะรัฐมนตรีและคู่สมรส และแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ ชมการแสดง ชุด สยามภิรมย์ธารา เด็กๆนำกระทงมอบให้นายกรัฐมนตรีและภริยา คณะรัฐมนตรีและคู่สมรส จากนั้นนายกรัฐมนตรีและภริยา คณะรัฐมนตรีและคู่สมรส ร่วมถ่ายภาพ ณ เวทีพิธีเปิดการจัดงาน และร่วมลอยกระทง ณ คลองผดุงกรุงเกษม ชมการแสดงเพลงเรือ และการจำลองวิถีชีวิตตลาด

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า การจัดงาน “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสาน ประเพณีไทย สู่ความยั่งยืน” ประเพณีลอยกระทง ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทย คุณค่าของประเพณีลอยกระทง คือ การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะการรู้คุณค่าของน้ำที่ใช้ในการดำรงชีวิต อันมีต้นกำเนิดจากแม่น้ำลำคลอง ประเพณีลอยกระทง จึงถือเป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทย อันงดงาม ได้แก่ การประดิษฐ์กระทง การประดับประทีปโคมไฟในยามค่ำคืน การแสดงมหรสพ และการละเล่น รื่นเริงต่าง ๆ

รมว.วธ. กล่าวอีกว่า รัฐบาล โดย สำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันจัดงาน “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสาน ประเพณีไทย สู่ความยั่งยืน” เพื่ออนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมไทย และส่งเสริมประเพณีลอยกระทงที่ทรงคุณค่า สืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป ตลอดจนถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ที่ถูกต้องและเหมาะสม อีกทั้งเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงาน ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าท้องถิ่น เข้าร่วมประเพณีลอยกระทง ร่วมกันใช้วัสดุธรรมชาติ ที่ย่อยสลายง่ายที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น มาประดิษฐ์กระทง เพื่อร่วมกันรักษาและป้องกันการเกิดมลพิษต่อสายน้ำและสิ่งแวดล้อม และรณรงค์ให้แต่ละครอบครัว กลุ่มประชาชน หน่วยงานใช้กระทง 1 ใบ ตามแนวทาง “1 ครอบครัว 1 กระทง” หรือ “1 หน่วยงาน 1 กระทง” เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และลดปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลอง