รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปอบจ.แล้วกว่า 2,100 แห่ง ใน 30 จังหวัด สสจ.และ อบจ. มีการประสานร่วมกันดูแลประชาชนดี ทำให้ไม่พบปัญหาการบริการ เช่นที่นครราชสีมา ย้ำ สสจ.ที่เหลือ ประสานความร่วมมือกับ อบจ. ต่อเนื่อง ให้ประชาชนได้รับบริการไม่สะดุด พร้อมรวบรวมปัญหาและแนวทางแก้ไขที่สำเร็จเป็นตัวอย่างพื้นที่อื่น ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาภาพรวม ส่วนกลางรับดำเนินการต่อ
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง ในปีงบประมาณ 2566 ว่า ภาพรวม สอน./รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้ว 2,121 แห่ง ใน 30 จังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีการประสานงานกับ อบจ.ในการจัดบริการประชาชนอย่างใกล้ชิด ทำให้ยังไม่พบปัญหาการให้บริการ เช่น จังหวัดนครราชสีมา มี รพ.สต. ทั้งหมด 182 แห่ง บุคลากรรวม 1,829 คน
การประสานงานระหว่าง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กับนายก อบจ.เป็นไปด้วยดี มี รพ.สต. ถ่ายโอนไปแล้ว 50% การถ่ายโอนพัสดุและครุภัณฑ์มีความพร้อมส่งมอบ 100% ขณะที่ด้านบุคลากร พบว่าไม่มีบุคลากรจากโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปถ่ายโอนไปด้วย ส่วนงบประมาณที่เป็นเงินสนับสนุนจาก สปสช. ในการจัดบริการผู้ป่วยนอกและบริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค หน่วยบริการประจำแม่ข่าย (CUP) จะหารือกับรพ.สต.ที่ถ่ายโอน และเป็นมติข้อตกลงร่วมกันตามบริบทของพื้นที่ ก่อนแจ้งให้ สปสช.รับทราบเพื่อจัดสรรเงินตรงไปที่ รพ.สต. และ CUP ต่อไป
นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า สอน./รพ.สต.ที่มีการถ่ายโอนไปแล้วหลายแห่ง อบจ.มีการประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในเรื่องการจัดบริการ เช่น ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดช่วยจัดซื้อยาให้ รพ.สต.ไปใช้ก่อน เพื่อไม่ให้การบริการต้องสะดุด ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีและประชาชนได้ประโยชน์ จึงได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่กำลังจะถ่ายโอนดำเนินงานเชิงรุกในการประสานหารือกับนายก อบจ.อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่เกิดผลกระทบต่อการบริการประชาชน พร้อมทั้งรวบรวมข้อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการถ่ายโอน รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการได้สำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางให้กับพื้นที่อื่น ส่วนประเด็นปัญหาที่เป็นภาพรวมส่วนกลางจะดำเนินการแก้ไขทั้งระบบต่อไป