กรมโยธาธิการและผังเมือง ดึงผู้เชี่ยวชาญ แลกเปลี่ยน เสนอแนะ ให้ความรู้​ งานสัมมนาเนื่องในวันผังเมืองโลก 2565

กรมโยธาธิการและผังเมือง ดึงผู้เชี่ยวชาญ แลกเปลี่ยน เสนอแนะ ให้ความรู้​ งานสัมมนาเนื่องในวันผังเมืองโลก 2565 “Decoding the Future of Self – Sufficient Cities ถอดรหัสเมืองพึ่งพาตนเอง”

8 พฤศจิกายน 2565 / กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องใน วันผังเมืองโลก เรื่อง Decoding the Future of Self – Sufficient Cities : ถอดรหัสเมืองพึ่งพาตนเอง ดึงผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนแนวคิด สู่การพัฒนางานผังเมือง ในการออกแบบและสร้างสรรค์เมืองในอนาคตให้สามารถตอบโจทย์ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองและปรับตัวได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในอนาคต

โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้เกียรติปาฐกถาภายในงาน ซึ่งจัดในรูปแบบออนไลน์ Virtual Seminar

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นองค์กรหลักในการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวันผังเมืองโลก (World Town Planning Day) อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนงานด้านการผังเมือง โดยการวางผังเมืองจะต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด เมืองและชนบท และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม นำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

นอกจากนั้นภายใต้สถานการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการวางผังเมืองและการพัฒนาเมืองให้ต่างไปจากเดิม โดยเมืองในอนาคตต้องเตรียมความพร้อมกับความเสี่ยงทุกประเภท และสามารถรองรับคนทุกช่วงวัยได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ หรือเมืองที่รองรับกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ให้สามารถรับมือกับปัญหา พร้อมกับการฟื้นฟูสภาวะของการพัฒนาเมืองควบคู่กันไป โดยนำไปสู่เมืองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในงานสัมมนา ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจและทันสมัยต่อการพัฒนาเมือง ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ควรน้อมนำการสืบสานการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานหลักการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน เอามาเป็นกรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาเมืองยุคปัจจุบัน ควบคู่กับองค์ความรู้สมัยใหม่ ถ้าเราพิจารณาถึงโครงการพระราชดำริต่าง ๆ รวมกันทั้งหมด ในภาพรวมทั้ง 4,741 โครงการ จะเห็นว่าเป็นการพัฒนาด้านการผังเมืองที่คำนึงถึงภูมิสังคมและเคารพในภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ในระดับภูมิภาค ระดับลุ่มน้ำ ไปจนถึงระดับประเทศ ที่มีความซับซ้อนและความลึกซึ้งทั้งในกระบวนการวางแผน การวางผังแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันตั้งแต่ พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ พื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง ไปจนถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้งยังพระราชทานกระบวนการที่นำไปสู่การปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายและจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย

ตลอดจนการรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมให้มีความอุดมสมบูรณ์ ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สามารถสร้างประโยชน์สุข ให้กับประชาชน อีกทั้งยังยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี การคมนาคมสัญจรและอื่น ๆ และยังบูรณาการงานวิชาการด้านต่าง ๆ ทั้งงานวิศวกรรม งานด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง งานเกษตรกรรม งานขับเคลื่อนสังคม เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทยขึ้นมา ดังตัวอย่างของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้ง 6 ภูมิภาคของประเทศไทย

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันทั่วโลกต่างประสบปัญหาต่าง ๆ อาทิ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และวิกฤตเมืองที่ต้องรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชน เมืองจึงต้องมีความยืดหยุ่น พึ่งพาตนเองได้ สามารถรองรับวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตอยู่กับเมืองได้อย่างปกติ ปลอดภัย และมีความสุข

การจัดสัมมนาในปีนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดจัดในหัวข้อ “Decoding the Future of Self -Sufficient Cities : ถอดรหัสเมืองพึ่งพาตนเอง” โดยได้เรียนเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมเสนอแนวคิดและเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการออกแบบและสร้างสรรค์เมืองในอนาคตให้สามารถตอบโจทย์ ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง และปรับตัวได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ Virtual Seminar โดยแบ่งออกเป็น 5 กิจกรรม ดังนี้

1. Forum เวทีสนทนา แบ่งออกเป็น
Main Forum โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีชื่อเสียง ได้แก่

– ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง

– ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)

– ดร.ศุลีพร บุญบงการ จูภาวัง ผู้อำนวยการสำนักวิเทศน์สัมพันธ์ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา

– ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาล พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารในพระสังฆราชูปถัมภ์

– ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ กรรมการคณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

International Forum เวทีสนทนานานาชาติ โดยผู้บริหารเมืองของประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่

– นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– นายวิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม

– นายบรรหาร เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู

– ผู้บริหารเมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย

– ผู้แทนจาก UN-Habitat

2. Spotlight เวทีวิชาการ โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ได้แก่

– ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

–  ผศ.ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา

–  ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

–  รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

–  ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ อุปนายกสมาคม BIM แห่งประเทศไทย ประธานเจ้าหน้าที่ บ.แอสเซ็ท แอคทิเวเตอร์ จำกัด

–  ศ.ดร.วิลาศ นิติวัฒนานนท์ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมทรัพยากรและการพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

–  ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

–  ศ.ดร.ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ กรรมการนโยบาย การผังเมืองแห่งชาติ

–  น.ส.กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกและผู้ก่อตั้ง บริษัท Landprocess จำกัด

–  นายวีระพล พวงพิทยาวุฒิ ประธานคณะกรรมการผังเมือง และนิคมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

3. DPT Insight การอัพเดทข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์งานของกรมโยธาธิการและผังเมือง

4. Exhibition การแสดงนิทรรศการด้านการผังเมือง/การพัฒนาเมืองจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ

5. World Town Planning Day Community การร่วมแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงาน

กิจกรรมทั้งหมดจะเผยแพร่ผ่านช่องทาง Website www.worldtownplanningday.com ทาง Facebook งานประชาสัมพันธ์กรมโยธาธิการและผังเมือง และทาง YouTube กรมโยธาธิการและผังเมือง Official

กรมโยธาธิการและผังเมืองหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ จะได้รับความรู้ และมีความเข้าใจงานด้านการผังเมือง และการพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้น จากกิจกรรมต่าง ๆ ในงานที่อัดแน่นด้วยนักวิชาการที่มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการออกแบบเมืองในอนาคต ให้เป็นเมืองที่พึ่งพาตนเอง และปรับตัวได้ในสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข พร้อมก้าวสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง