– อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. ชะลอลงมาสู่ระดับ 5.98% (YoY) จากเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ชะลอลงจากผลของฐานในปีก่อนที่ปรับสูงขึ้น และจากราคาอาหารสดที่ชะลอลงตามราคาเนื้อสัตว์และผลไม้ ประกอบกับผลของฐานปีก่อนที่เร่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเทียบกับเดือนก่อน พบว่า เร่งขึ้น 0.33% (MoM) ตามราคาอาหารสดและราคาน้ำมันขายปลีก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 17% (YoY) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
– แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงและได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่คาด กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% ไปจนถึงกลางปี 2566 อีกทั้งเป็นการเพิ่ม policy space เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่อาจเผชิญภาวะถดถอยในระยะข้างหน้า
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. ชะลอลงที่ 5.98% ตามเงินเฟ้อหมวดพลังงานและอาหารสด
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. อยู่ที่ 5.98% (YoY) ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 6.41% (YoY) สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 6.0% [1]จากราคาหมวดพลังงานที่ชะลอลงมาสู่ 13.07% (YoY) เทียบกับ 16.10% (YoY) เมื่อเดือน ก.ย. จากผลของฐานในปีก่อนที่ปรับสูงขึ้น และจากราคาอาหารสดที่ชะลอลงเล็กน้อย 10.48% (YoY) เทียบกับ 10.97% (YoY) เมื่อเดือน ก.ย. ตามราคาเนื้อสัตว์และผลไม้ที่ปรับชะลอลง ประกอบกับผลของฐานปีก่อนที่เร่งขึ้นสูง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อเทียบกับเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นที่ 0.33% (MoM) จากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาผักสดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยที่ 3.17% (YoY) จากเดือนก่อนที่ 3.12% (YoY) ตามราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 10 เดือนแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.15% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.35%
Implication:
– คาด กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงและได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% และหากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาผันผวน) ยังทรงตัวในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเช่นกัน
โดยมีสาเหตุจากการส่งผ่านราคาต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าและบริการ Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายไปจนถึงกลางปี 2566 จึงคาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และเป็นการเพิ่ม policy space เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่อาจเผชิญภาวะถดถอยในระยะข้างหน้า
[1] อ้างอิงจาก Reuter Polls (as of Nov 22)