ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สั่ง Kick off เปิดปฏิบัติการค้นหาผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผู้มีอาการทางจิตและผู้ป่วยจิตเวช พร้อมกันทั้งจังหวัด 16 อำเภอ 26 สถานีตำรวจ เพื่อนำเข้าสู่การบำบัดรักษาตามกฎหมาย เป็นจังหวัดแรก
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น. ณ อาคารเอนกประสงค์โรงเรียนวัดสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนศรศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโครงการค้นหาผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผู้มีอาการทางจิตและผู้ป่วยจิตเวช เพื่อนำเข้าสู่การบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 ปฏิบัติการ Kick off พร้อมกันทั้งจังหวัด 16 อำเภอ และ 26 สถานีตำรวจ โดยมี พล.ต.ต.ชยานนท์ มีสติ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นางอมรรัตน์ กรึงไกร นายอำเภอเสนา นายประสาร หยงสตาร์ ผอ.ปปส.ภาค 1 หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นักเรียน เข้าร่วมโครงการ
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯ กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลและเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด เปลี่ยนกรอบแนวคิดหลักจากสงครามยาเสพติด มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด โดยวิธีการทางสาธารณสุขแทนการใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยยึดหลักผู้เสพ คือ ผู้ป่วยที่ควรได้รับการช่วยเหลือให้เข้ารับการบำบัดรักษา ตลอดจนมีการติดตามช่วยเหลือให้กลับมาดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนและเป็นการป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่มีอาการทางจิตและผู้ป่วยจิตเวช
ตลอดจนลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่ หมู่บ้าน ชุมชน จึงได้จัดทำ “โครงการคันหาผู้ใช้ ผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ผู้มีอาการทางจิตและผู้ป่วยจิตเวช เพื่อนำเข้าสู่การบำบัดรักษา ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 “ ขึ้น โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการความร่วมมือกัน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเฝ้าระวังและนำบุคคลดังกล่าว เข้าสู่การบำบัดรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตามความเหมาะสม เพื่อให้ยาเสพติด ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด หมดไปจากพื้นที่
สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว จะดำเนินการพร้อมกันทั้งจังหวัด รวม 16 อำเภอ และ 26 สถานีตำรวจ โดยได้รับความร่วมมือจาก ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, นายอำเภอ, ผกก.สภ.-หน.สภ.ฯ ในสังกัด ฝ่ายปกครอง, ปปส.ภาค1, สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และประชาชนในพื้นที่ ร่วมบูรณาการร่วมกัน
ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,000 คน แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ 1,000 นาย ผู้เสพ 500 คน และ ประชาชน ผู้ปกครอง 500 คน