วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าว ผลการทบทวนโปรแกรมการดำเนินงานเอชไอวีระดับประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก (GF) โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) ศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และ Duke University
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวี/เอดส์ จากประเทศไทยและต่างประเทศ 12 ท่าน นำโดยหัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ Dr. Chris Beyrer ผู้อำนวยการสถาบัน Duke Global Health Institute และ หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญมีข้อเสนอแนะในประเด็นหลัก ดังนี้
1) ให้ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ร่วมกันดำเนินงาน สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอดส์และ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาให้กับเยาวชน
2) ผลักดันให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ และมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
3) ส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติทุกคนได้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม และให้มีการบริหารจัดการงบประมาณด้านระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ
4) รณรงค์สร้างความตระหนัก เพื่อให้การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ การใช้ยาป้องกันก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อเป็นเรื่องปกติ
5) ขยายและเพิ่มบทบาทของภาคประชาสังคมที่ร่วมรณรงค์ และการจัดบริการเชิงรุก ร่วมกับการดำเนินการจากหน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ ในระดับพื้นที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
6) บูรณาการงานโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคไวรัสตับอักเสบ โรควัณโรค รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ
7) บูรณาการระบบข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย ทั้งข้อมูลการเฝ้าระวังโรคการป้องกัน การดูแลรักษา และการติดตามประเมินผล
นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญได้ชื่นชมประเทศไทยที่มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการดำเนินงานร่วมกันด้านเอชไอวีอย่างเข้มแข็ง ทำให้แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมีเป้าหมายท้าทายที่จะเร่งรัดการยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 – 2573 โดยกำหนดเป้าหมายในการยุติปัญหาเอดส์ 3 ประการ ได้แก่ ลดผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ ให้เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และลดการเลือกปฏิบัติจากเอชไอวีและเพศภาวะลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10โดยในปี 2564 คาดประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือเพียง 6,500 คน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาต้านไวรัส 450,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตจากเอดส์ยังคงสูงถึง 9,322 คน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตจากวัณโรค และยังคงมีการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 26.7
นอกจากนี้ยังพบว่าสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในกลุ่มเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้น 2.5 เท่า ตั้งแต่ปี 2560 โดยในปี 2564 โรคซิฟิลิสมีอัตราป่วย 50.5 ราย ต่อประชากรแสนคน โรคหนองใน 45.6 รายต่อประชากรแสนคน อัตราการใช้ถุงยางอนามัยยังคงต่ำกว่า 100% โดยในปี พ.ศ. 2562 ในกลุ่มเยาวชน มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์ ประมาณร้อยละ 80 และในกลุ่มประชากรเป้าหมายหลักร้อยละ 70-80 ในปี 2564
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข รับทราบและได้ทบทวนข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญแล้ว และจะดำเนินการหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อวางแผนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญให้เกิดการนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญหลายประเด็น ดังนี้
1) กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงปัญหาการระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชน และจะหารือร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการยกระดับการทำงานด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษา และส่งเสริมเรื่องการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ต่อเยาวชนที่ติดเชื้อเอชไอวี และเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายบูรณาการบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เข้ากับงานบริการโรคติดเชื้อเอชไอวี และขณะนี้การจัดบริการการใช้ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ (ยาเพร็พ) อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของคนไทยทุกคนแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการขยายหน่วยบริการยาเพร็พที่ได้มาตรฐานให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาสังคมในพื้นที่
2) กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้พยายามขับเคลื่อนการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติโดยผลักดันให้มี “กฎหมายเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ” ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และ 27 ซึ่งกำหนดว่าห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะสถานะด้านเอชไอวี แต่รวมถึงความเห็น และสถานะ ทางสังคมที่แตกต่าง โดยขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่าง“กฎหมายเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ” ต่อรัฐสภาและอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี
3) กระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ และพยายามส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติทุกคนมีบัตรประกันสุขภาพของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันหารือแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว รวมถึงค่าบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติได้อย่างเท่าเทียม
4) กระทรวงสาธารณสุขขอเชิญชวนให้ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน ร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความตระหนักแก่ประชาชน ถึงสถานการณ์ปัญหาของโรคติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ตื่นตัวในการป้องกันโรค และสามารถเข้าสู่การตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว ไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังขับเคลื่อนการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองให้รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ และสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
5) กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อบูรณาการระบบข้อมูลด้านเอชไอวี ทั้งข้อมูลของผู้ที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ข้อมูลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ข้อมูลผู้ที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ รวมถึงแรงงานข้ามชาติและผู้ที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ (บุคคลไร้รัฐ) เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลกลาง และสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการนำมากำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคตได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะหารือร่วมกับกองทุนด้านสุขภาพทั้ง 4 กองทุน เพื่อให้ทุกกองทุนสนับสนุนการจัดบริการด้านเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ แก่ทุกคนทุกสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับการทบทวนโปรแกรมการดำเนินงานเอชไอวีระดับประเทศในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 8 พฤศจิกายน 2565 เพื่อรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานโปรแกรมเอชไอวีที่ผ่านมาของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2564 โดยผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย อุดรธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านเอดส์ ให้สามารถเร่งรัดการยุติปัญหาเอดส์ให้สำเร็จภายในปี 2573