สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สุดปลื้มข้าราชการในสังกัด โชว์ศักยภาพแสดงผลงานโดนใจ ไอเออีเอ โดยคัดเลือกและรับรองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการตรวจวัดและประเมินผลกระทบทางรังสีในสิ่งแวดล้อม ด้านการประเมินการดำเนินงานด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี และด้านการประเมินดำเนินงาน ซ่อมบำรุง และการจัดการความเสื่อมของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้บุคลากรรุ่นใหม่ดำเนินรอยตาม
นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ปส. ผลักดันและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรในสังกัดให้ก้าวสู่ HR 4.0 ซึ่งปัจจุบันมีข้าราชการได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งมีผลงานในสาขาความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์สู่เวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศด้านพลังงานนิวเคลียร์ได้คัดเลือกและรับรองให้ 5 ข้าราชการไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ระดับนานาชาติ และได้รับเชิญร่วมถ่ายทอดความรู้และปฏิบัติภารกิจด้านนิวเคลียร์และรังสีทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ดังนี้
ด้านการตรวจวัดและประเมินผลกระทบทางรังสีในสิ่งแวดล้อม
– ดร.ยุทธนา ตุ้มน้อย นักชีววิทยารังสีชำนาญการพิเศษ
– นายไมตรี ศรียา วิศวกรนิวเคลียร์ชำนาญการพิเศษ
– ดร.สมบูรณ์ โตอุตชนม์ วิศวกรนิวเคลียร์ชำนาญการ
ด้านการประเมินการดำเนินงานด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี
– ดร.รุ่งธรรม ทาคำ นักฟิสิกส์รังสีชำนาญการพิเศษ
ด้านการประเมินดำเนินงาน ซ่อมบำรุง และการจัดการความเสื่อมของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย
– ดร.ปานทิพย์ อัมพรรัตน์ วิศวกรนิวเคลียร์ชำนาญการ
นางสาววิไลวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะผู้บริหาร ปส. พร้อมผลักดันบุคลากรของประเทศให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนากฎหมาย การขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี การจัดการกากกัมมันตรังสี เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงบุคลากรภายในสังกัดเท่านั้น ปส. ยังมีนโยบายผลักดันและส่งเสริมให้บุคลากรภายนอกเข้ารับการฝึกอบรมด้านนิวเคลียร์และรังสีในทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ อาทิ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน จำนวนไม่ต่ำกว่า 100 คนต่อปี เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ และก้าวสู่ระดับสากลต่อไป
สำหรับข้าราชการทั้ง 5 รายนี้ นอกจากจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจและทำให้ทั่วโลกมองเห็นศักยภาพของคนไทยที่โดดเด่นแล้ว ยังถือว่าสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จภายใต้นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ (2560 – 2569) ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านนิวเคลียร์และรังสีให้มีขีดความสามารถตามมาตรฐานสากล รวมทั้งผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางด้านนิวเคลียร์และรังสีกับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ถือเป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนิวเคลียร์และรังสีของไทยสู่ระดับสากล ส่งผลให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์รุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถและเพียงพอต่อการรองรับโครงการพลังงานนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัยและมีความสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ในระยะยาวต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มฝึกอบรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2579 7600 ต่อ 1126