สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน  ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ให้ ดร. วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตามที่ขอรับพระราชทานน้อมนำไปถวายพระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำบลกะมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ข้าราชการ และพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา เข้าร่วมในพิธีในครั้งนี้ โดยมี พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ เป็นองค์ประธานนำพระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ทั้งนี้ ได้มีผู้มีจิตกุศลร่วมถวายจตุปัจจัย บำรุงและบูรณะพระอาราม ทำบุญกฐินพระราชทาน ประจำปี 2565 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,291,893.20 บาท

วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา มีชื่อเสียงระบือไปทั่วประเทศโดยเฉพาะหลวงพ่อโตหรือเจ้าพ่อซำปอกงที่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนต่างให้ความเคารพนับถือ อีกทั้งป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาและไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิงและในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ว่า ได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปพุทธชื่อ”พระเจ้าพแนงเชิง” เมื่อปี พ.ศ. 1867 ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี ซึ่งมีหลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายกพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร วัสดุ ปูนปั้นลงรักปิดทองหลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือพระโตของชาวอยุธยาองค์นี้ ถือกันว่าเป็นพระโบราณคู่บ้านคู่เมืองกรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสร้างกรุง พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1868 หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปีและเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะแตกปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่าพระปฏิมากรใหญ่ที่วัดพนัญเชิงมีน้ำพระเนตรไหลเป็นที่อัศจรรย์ หลวงพ่อโตเป็นพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชาวจีนมากโดยเรียกกันว่า“ซำปอกง” นอกจากชาวไทยแล้วยังมีผู้มีเชื้อสายจีนหลั่งไหลกันมากราบไหว้บูชาจำนวนมากและเป็นประจำทุกปี

ข่าว : #สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา