กรมประมงสร้างเครือข่ายอาสาสมัคร ชปพ.ประมง พร้อมออกปฏิบัติงานควบคุม เฝ้าระวัง การทำการประมงผิดกฎหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมประมง ตลอด 24 ชม.

กรมประมงปั้นอาสาสมัครในโครงการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือ ชปพ. ประมง ผนึกกำลังร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องถิ่น ระหว่างเครือข่ายเฝ้าระวังการทำประมง ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมประมง ในการออกปฏิบัติหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งให้ความรู้และแนะแนวทางการร่วมกันอนุรักษ์สัตว์น้ำประจำถิ่น เพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ มีการปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น ซึ่งในประเทศไทยมีที่จับสัตว์น้ำที่ต้องควบคุมการทำการประมง ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดทั้งในเขตน่านน้ำภายในเขตทะเลชายฝั่ง และเขตทะเลนอกชายฝั่ง รวมประมาณ 266,449,613 ไร่ แต่ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอต่อการดูแลทรัพยากรในที่จับสัตว์น้ำอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน และองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นเข้ามาปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุม ตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการทำการประมง เพื่ออนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดและสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน กรมประมงจึงให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดโครงการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ (ชปพ. ประมง) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากภาคประชาชน และองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้เข้ามาปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมประมงในการควบคุม ตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการทำการประมงผิดกฎหมาย พร้อมทั้งให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างมีประสิทธิภาพ และให้การปฏิบัติงานของผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ (ชปพ. ประมง) เป็นไปตามระเบียบ อยู่ภายใต้การควบคุม และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งให้ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ (ชปพ. ประมง) ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น และปัญหาอุปสรรค ที่พบเห็นในการปฏิบัติงาน สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนได้อย่าง

นายอรุณ เพ็งทอง อายุ 61 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดบึงกาฬ หนึ่งในเครือข่ายเฝ้าระวังการทำประมง และช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ (ชปพ.ประมง) ซึ่งกรมประมงได้เสนอชื่อให้เป็นผู้สมควรได้รับการยกย่องในการเป็นอาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จากสมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ กล่าวว่า “ตนได้สมัครเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ (ชปพ. ประมง) รุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ. 2561 เนื่องจากต้องการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่คู่กับชุมชนอย่างยังยืน อีกทั้งต้องการช่วยเจ้าหน้าที่กรมประมงในการควบคุมปราบปรามเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายภายในชุมชน ซึ่งคนในชุมชนได้อาศัยหนองกุดทิง ตำบลโนนสมบูรณ์ อ. เมืองบึงกาฬ ในการจับสัตว์น้ำ เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยทางกรมประมงในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ หากสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ก็จะเกิดผลดีแก่ชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีแหล่งทำมาหากิน อีกทั้งการสมัครเป็น ชปพ.ประมง เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานซึ่งมีกฎหมายรองรับ ทำให้มีความมั่นใจในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น ในตอนแรกที่เจ้าหน้าที่กรมประมงมาขอข้อมูลเพื่อรวบรวมไปพิจารณาการคัดสรรเป็นอาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติก็ยังไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลนี้ เนื่องจากเป็นการคัดสรร จากชปพ. ประมง ทั่วประเทศ ซึ่งทุกคน ก็ทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือทางกรมประมงอย่างเต็มกำลังเช่นกัน ท้ายที่สุดนี้ต้องขอขอบคุณทางกรมประมงที่เล็งเห็นความสำคัญในการปฏิบัติงานช่วยเหลือทางกรมประมง ในปัจจุบันได้เข้าร่วมเป็น ชปพ.ประมง มาแล้วถึง 6 ปี ในอนาคตก็จะยังช่วยเหลือกรมประมงต่อไป และจะพัฒนาทีมงานให้เข้มแข็งตลอดจนสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์น้ำอีกต่อไป”

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ ชปพ. ประมง จะเป็นอีกหนึ่งเครือข่ายความร่วมมือที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนประมงท้องถิ่นกับกรมประมงเราห่วงใยดูแลกันเองแบบพี่น้อง ถึงแม้เราจะอยู่กันคนละบทบาทแต่เรามีเป้าหมายเดียวกัน คือช่วยกันบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อชาวประมงท้องถิ่นสามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน