นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุม “การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร สู่ความเข้มแข็ง” พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติราชการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัยศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก่ผู้บริหารและข้าราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของสมาชิกในการดำรงชีพในชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารฝึกอบรมส่วนกลาง สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ร่วมด้วยข้าราชการในสังกัด เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ตาม ๕ ยุทธศาสตร์ และ ๑๕ นโยบายหลักของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีภารกิจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และกำกับดูแลสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งตามหลักธรรมาภิบาล รวมถึงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนาของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมสหกรณ์ทุกประเภทและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ รมว.กษ.จึงได้มอบนโยบายให้ทั้ง 2 หน่วยงาน บูรณาการการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตรและขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการเกษตร มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในรูปแบบของการสหกรณ์ สร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรของชุมชน โดยส่งเสริมให้นำแนวทางการตลาดนำการผลิต การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และการนำเทคโนโลยีการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างระบบการเงินการบัญชีที่มีเกณฑ์การตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรนำไปใช้ปฏิบัติมีการกำหนดเกณฑ์การควบคุมภายในที่ดี การควบคุมและดูแลการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
ที่ปรึกษารมว.กษ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวนโยบายในการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีดังนี้
1.นโยบายด้านการส่งเสริม พัฒนา และการกำกับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการผลักดันให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจสหกรณ์ ตามหลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์ในการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ธุรกิจการแปรรูปและธุรกิจบริการ จะช่วยให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น แก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพในชุมชนได้อย่างยั่งยืน การบริหารองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ต้องร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการกำกับดูแล แนะนำและการสร้างระบบบัญชีที่มีมาตรฐานลงพื้นที่เข้าตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทุกแห่ง เข้าแนะนำ ตรวจสอบให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรปิดบัญชีได้ตามกฎหมาย สร้างความโปร่งใสในการบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการ สร้างระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารจัดการความเสี่ยงและระบบตรวจสอบที่ดี ทำให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรปลอดการทุจริตให้มากที่สุด การแก้ไขข้อบกพร่องของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร หากตรวจพบสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีการทุจริตหรือข้อบกพร่อง ให้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องโดยเร็ว
2.นโยบายด้านการตรวจสอบทางการเงินและการบัญชี ถือเป็นงานสำคัญที่ช่วยสร้างความโปร่งใสให้แก่สถาบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ประกอบด้วย พัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชี ให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เน้นการตรวจสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ในกรณีเกิดสถานการณ์ทุจริตให้เร่งดำเนินการเชิงรุกในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจจัดทำเป็นทีมตรวจสอบเฉพาะกิจและร่วมแก้ไขปัญหากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพการสอบบัญชีสหกรณ์ มุ่งเน้นตรวจสอบคุณภาพงานของผู้สอบบัญชีให้เข้มข้น เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดด้านจรรยาบรรณ พัฒนาความสามารถด้านการเงินการบัญชีและการควบคุมภายในแก่สหกรณ์กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกร โดยให้ความช่วยเหลือ สอนแนะการจัดทำบัญชีให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้สามารถปิดบัญชีประจำปีได้ ช่วยเสริมสร้างระบบการควบคุมภายในให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น พัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการ และบุคลากรในสหกรณ์ให้มีความรู้และสามารถนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงสอนแนะการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกร เพื่อสร้างจิตสำนึกการออมและลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น มุ่งพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีด้านการบัญชีเพื่อให้บริการแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์มีการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร และทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ทุกมิติ
“การขับเคลื่อนการดำเนินงานของทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และร่วมกันผลักดันให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ เป็นที่พึ่งของเกษตรกรและชุมชนได้อย่างยั่งยืน” ที่ปรึกษา รมว.กษ.กล่าว
ด้านนางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กล่าวบรรยายแนวทางการขับเคลื่อนงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีความเข้มแข็ง โปร่งใส มีระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีและการควบคุมภายในที่ดี สามารถปิดบัญชีได้ โดยมีแนวทาง ดังนี้
1. บูรณาการงานสอบบัญชี เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและโปร่งใสให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ผ่านการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 700 คน ซึ่งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร สามารถใช้ประโยชน์จากผลการตรวจสอบบัญชีและนำข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปปรับปรุงการบริหารจัดการและอำนวยประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม เป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
2.ยกระดับการกำกับดูแล โดยยกระดับการกำกับดูแลสหกรณ์ที่โอนให้ภาคเอกชนตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อสหกรณ์ให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี และบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการเร่งรัดแก้ไขหากเกิดปัญหาอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐาน
3.พัฒนาความสามารถด้านการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยให้ความช่วยเหลือสอนแนะการจัดทำบัญชีให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ทั้งในกรณีของสหกรณ์กลุ่มไม่พร้อมรับการตรวจหรือสหกรณ์ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่บัญชี เพื่อให้สหกรณ์สามารถทำบัญชีได้และส่งงบให้ตรวจสอบได้ รวมถึงการผลักดันให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และสมาชิก ใช้แอปพลิเคชัน Smart4M ที่จะช่วยให้สมาชิกสามารถทราบข้อมูลการทำธุรกรรมของตนเองกับสหกรณ์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบความถูกต้องให้แก่สหกรณ์ สหกรณ์สามารถนำข้อมูลไปวางแผนบริหารจัดการและสร้างระบบควบคุมภายในที่ดี ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตได้