ส.ป.ก.พร้อมลุยปี 66 ขับเคลื่อนงานพัฒนาเพื่อเกษตรกร เน้นพัฒนาแหล่งน้ำทุกมิติ

ส.ป.ก. ขับเคลื่อนงานในปี 66 ยึดแนวทางนโยบายรัฐ กระทรวงฯ และนโยบาย ส.ป.ก. อย่างเป็นรูปธรรม มีเป้าหมายใหม่ คิดใหม่ ย้ำบูรณาการร่วมกันในเรื่องการจัดที่ดิน การพัฒนาเกษตรกร และพื้นที่การผลิตทางการเกษตร ให้ตอบโจทย์สภาพพื้นที่และประโยชน์ของเกษตรกรมากที่สุด ในปีนี้เน้นการพัฒนาแหล่งน้ำในทุกมิติ

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สัมมนา “แนวทางการขับเคลื่อนและการติดตามผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัด งบประมาณ พ.ศ.2566 ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” โดย ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก., รองเลขาธิการ มอบนโยบาย พร้อมผู้ตรวจราชการกรม, ผู้อำนวยการสำนัก กอง ศูนย์, ปฏิรูปที่ดินจังหวัด และเจ้าที่หน้าที่เข้าร่วม ณ จ.พระนครศรีอยุธยา

โดยแนวทางการขับเคลื่อนงานให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายของ ส.ป.ก. นำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งในเรื่องของการดูแลพี่น้องเกษตรกรนั้น ให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทันท่วงทีเมื่อประสบปัญหาทั้งด้านภัยพิบัติ และปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ต้องมีการจัดทำแผนการปฏิบัติงานเงินกองทุนฯ และแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ชัดเจน สามารถติดตามตรวจสอบได้ และควรมีการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาระบบติดตามประเมินผลที่มีศักยภาพ ในรูปแบบรายงานผล Real Time ทั้งนำข้อมูล Big Data มาปรับใช้ในการพัฒนางานปฏิรูปที่ดิน และการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นอกจากนั้นต้องเร่งพัฒนาระบบการให้บริการ และปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน การลดต้นทุน และลดกระบวนการการทำงาน ทั้งนี้จะปรับปรุงโครงสร้างบุคลากรตามความเหมาะสมของอัตรากำลังในแต่ละพื้นที่ บุคลากรของ ส.ป.ก. ต้องมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด ด้วยความสุจริต โปร่งใส เห็นแก่ประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวว่า “ปัจจุบันมิติในการทำงานของ ส.ป.ก.มีความชัดเจน เราสามารถตอบโจทย์เพื่อพี่น้องเกษตรกรและการทำงานในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ปีนี้จะเป็นการยกระดับการพัฒนาแหล่งน้ำในทุกมิติ เพราะแหล่งน้ำเป็นเรื่องสำคัญต่อพี่น้องเกษตรกร มีการทำงานเป็นทีมให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรมากที่สุด มีเป้าหมายใหม่ คิดใหม่ โดยการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเกษตรกร การสร้างความเข้าใจ เตรียมความพร้อม กำหนดทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน จัดทำคู่มือ วิธีการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เตรียมพร้อมทั้งกลุ่มเป้าหมายและสถานที่ดำเนินงาน เน้นการขับเคลื่อนงานเป็นชุมชนหรือตำบล การพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนขององค์ความรู้ทางด้านการปฏิรูปที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล”