“เมื่อผู้สูงอายุกลับมาเป็นอนาคตให้สังคม”

“เมื่อผู้สูงอายุกลับมาเป็นอนาคตให้สังคม” ร่วมเตรียมความพร้อมในงาน “สูงวัยอย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพด้วยวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ”

คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีพันธกิจผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนให้แก่ประเทศชาติ สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ล่าสุดได้เปิดบ้านแห่งการเรียนรู้อีกครั้ง เมื่อวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2565 เพื่อแนะนำโรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ พร้อมจัดงานในแนวคิด “สูงวัยอย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพด้วยวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ” เพื่อให้ข้อมูลความรู้ข่าวสาร และเตรียมความพร้อมด้านการผลิตบุคลากร “ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ” ในการทำงานด้านบริการสุขภาพรองรับสังคมสูงวัย

โดยมี ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้เกียรติเยี่ยมชมและกล่าวถึงการต่อยอดวิชาชีพในอนาคต พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ หิรัญรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ อาจารย์ ดร. อัจฉรียา กสิยะพัท ผู้ช่วยคณบดีด้านการศึกษา ให้การต้อนรับและกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

สังคมสูงวัย คือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง ในปี 2564 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ตามหลักเกณฑ์ที่ว่า คือมี ผู้สูงอายุ หรือ “คนแก่” อายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และหากดูสถิติย้อนหลังจะพบว่าอัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือเร็วกว่านั้น ประเทศไทยก็ต้องเผชิญปัญหาขาดประชาชนกลุ่มวัยทำงาน เพราะในสังคมจะมีแต่ผู้สูงอายุ ซึ่งน่าจะตามมาด้วยปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่างๆ ด้วย

คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ มุ่งสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพที่เป็นทั้งนักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถ และนักปฏิบัติการที่มีทักษะปฏิบัติสามารถประยุกต์องค์ความรู้ด้านวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพที่มีคุณภาพ ใช้เวลาศึกษา 4 ปี ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ในภาคทฤษฏีประกอบด้วยวิชาหลักที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น กายวิภาคศาสตร์ ชีวกลศาสตร์ สรีรวิทยาการออกกำลังกาย จิตวิทยา โภชนาการ

นักศึกษาที่จบหลักสูตรฯ นี้ไปสามารถประกอบอาชีพในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาล ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์สุขภาพ และสโมสรกีฬา และเพื่อตอบรับกับโจทย์แห่งอนาคตของประเทศไทย นั้นคือ สังคมสูงวัย ก็มีอาชีพแห่งอนาคตรองรับ โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพสอนให้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวและออกแบบโปรแกรมการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้เหมาะสมได้สำหรับทุกช่วงอายุ

ภายในงานครั้งนี้ เปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งเครื่องมือ บุคลากร และโชว์ถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่จะนำไปช่วยให้ผู้ที่จะเป็นอนาคตของสังคม ได้ “สูงวัยอย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ” ไปกับ “วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ” แบ่งเป็น

ฐานที่ 1 : ตรวจประเมินและทดสอบสมรรถภาพ (Fitness Test) เพื่อตรวจประเมินพื้นฐาน PAR-Q+, ทดสอบสมรรถภาพทางกาย (Fitness Test) : Sit to stand, Step Test, Hand Grip, Sit and Reach, Pulmonary Function Tests (ทดสอบสมรรถภาพปอด) เครื่องมือ อุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพพื้นฐาน เช่น hand grip dynamometer เครื่อง Spirometry

ฐานที่ 2 : แนะนำโภชนาการสำหรับผู้สูงวัย ผู้มีภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ไขมัน เพื่อแนะนำและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมเพียงพอ ถูกต้อง เพื่อชะลอ ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

ฐานที่ 3 : วิเคราะห์ท่าทางการเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ (Movement Analysis) เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหวและเปรียบเทียบแรงที่เกิดขึ้นขณะทำการเดินโดยใช้ไม้เท้าช่วยพยุง เครื่องมือ ชุดกล้องวิเคราะห์การเคลื่อนไหว แผ่นวัดแรง (Force Plate) เครื่องหมายสะท้อนแสง (Reflective Marker)

ฐานที่ 4 : แนะนำการออกกำลังกาย (Cardio, Strength Training & Stretching) เพื่อออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อสร้างเสริมความแข็งแรงของระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือด เพื่อสร้างเสริมความแข็งแรงและอดทนของกล้ามเนื้อ เพื่อสร้างเสริมความยืดหยุ่นตัวของกล้ามเนื้อ เครื่องมือ อุปกรณ์ออกกำลังกาย เช่น ยางยืด เสื่อโยคะ เก้าอี้

ในปีการศึกษา 2566 นี้ โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ รับสมัครบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ รอบที่ 1 การรับด้วย Portfolio (โครงการเพชรจุฬาภรณ์) จำนวน 30 คน

เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 – 10 มกราคม 2566 ติดตามและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร : 064-586-2429 Twitter : hkh_pccms Facebook : hkh.hst.pccms