สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 พ.ย. 65

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 พ.ย. 65

+ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.นราธิวาส (77 มม.) จ.พัทลุง (56 มม.) และ จ.ยะลา (55 มม.)

+ น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 44,162 ล้าน ลบ.ม. (76%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,398 ล้าน ลบ.ม. (76%)

+ คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

+ สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 พ.ย. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,754 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราประมาณ 1,562 ลบ.ม./วินาที

+ สถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี 3 พ.ย. 65 สถานีวัดน้ำท่า M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,660 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับในลำน้ำมีแนวโน้มลดลง คาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางเดือน พ.ย. 65

+ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 4-6 พ.ย. 65 เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมภาคใต้ อ่าวไทย และทะเลอันดามัน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี (อ.ท่าฉาง กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก เกาะสมุย และเกาะพะงัน) จ.นครศรีธรรมราช (อ.ขนอม เมืองนครศรีธรรมราช สิชล ท่าศาลา นบพิตำ พระพรม เชียรใหญ่ หัวไทร และปากพนัง) จ.พัทลุง (อ.เมืองพัทลุง กงหรา ป่าบอน ศรีบรรพต ควนขนุน และเขาชัยสน) จ.สงขลา (อ.หาดใหญ่ สทิงพระ จะนะ สิงหนคร นาทวี และเมืองสงขลา) จ.ยะลา (อ.ยะหา และเบตง) จ.ปัตตานี (อ.สายบุรี) และ จ.นราธิวาส (อ.จะแนะ ยี่งอ ระแงะ และสุไหงปาดี)

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 9 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/65

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน บริเวณบ้านคำ หมู่ที่ 2 ตำบลคำเลาะ อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี และสำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อกำหนดจุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ในโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำหรือน้ำเค็ม บริเวณบ้านนาสมบูรณ์ หมู่ที่ 10 ตำบลป่าไร่ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร

2. สภาพอากาศ

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน
ส่วนยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส และยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ

3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 68,303 ล้าน ลบ.ม. (83%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 60,119 ล้าน ลบ.ม. (83%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 5,020 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,164 ล้าน ลบ.ม. (62%)

3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,083 ล้าน ลบ.ม. (77%)

4. คุณภาพน้ำ และแจ้งเตือนน้ำทะเลหนุนสูง

4.1 คุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ในแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

4.2 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงสุด เวลา 14.13 น. ประมาณ 1.71 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติวิเคราะห์แล้วพบว่ายังไม่มีผลกระทบ
ต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดการฝึกอบรมหลักสูตร “ช่างเจาะน้ำบาดาล” ระดับ 1 รุ่นที่ 26 (ภาคเหนือ)
ณ โรงแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพช่างเจาะน้ำบาดาลให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับน้ำบาดาลอย่างถูกต้อง สามารถปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐาน
ที่สามารถปฏิบัติงานด้านการเจาะน้ำบาดาลตามกฎหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม ทั้งสิ้น 104 ราย