วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาระบบการขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อพม.Smart) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (อพม.) และนักสังคมสงเคราะห์สังกัดกระทรวง พม. จากทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องปรินซ์บอลรูม 2 – 3 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ
นายจุติ กล่าวว่า กระทรวง พม. มีพันธกิจในการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพเต็มศักยภาพ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างเสริมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม และจัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มหมายมีหลักประกันและมีความมั่นคงในชีวิต โดยได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสที่ปัญหามีความซ้ำซ้อน : ระบบการดูแลช่วยเหลือรายกรณี ในการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม และได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการดูแลรายกรณี เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งผลจากการวิจัยระดับพื้นที่ส่งผลให้เกิดเป็นระบบ “พม.พิษณุโลกพร้อมช่วย” และ “อพม. Smart” โดยระยะแรกได้ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย ปัจจุบัน ได้ขยายพื้นที่การใช้งานระบบ อพม. Smart เพิ่มอีก 4 จังหวัด คือ จังหวัดอุตรดิตถ์ ชัยนาท เพชรบูณ์ และพิจิตร โดยมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งวันนี้ กระทรวง พม. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาระบบการขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบ อพม. Smart ” เพื่อต้องการขยายผลการใช้งานระบบ อพม. Smart และพัฒนาระบบการส่งต่อข้อมูลข้ามหน่วยงาน เพื่อลดภาระด้านเอกสาร เพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงและส่งต่อรายกรณี
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. มีหนึ่งสิ่งในความประทับใจคือระบบ อพม.Smart ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อให้เรื่องนี้ประสบผลสำเร็จ อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของคู่มือเล่มนี้ และเปิดดูให้ครบ 203 หน้า ซึ่งแต่ละหน้าต้องใช้เวลาเขียนและวิจัย และโครงการนี้ได้ตอบโจทย์เรื่องประชาชนเป็นศูนย์กลาง จากเดิมที่ต้องทำงานเอกสารในระบบเดิมของราชการ เปลี่ยนมาเป็นการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เป็นการเพิ่มความแม่นยำของข้อมูล มีการจัดทำ Big Data เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ทุกกระทรวงต้องทำ นับเป็นการปฏิรูประบบการทำงานของราชการสู่การปฏิบัติจริงที่ประชาชนจับต้องได้และได้ประโยชน์
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่า Smart นั้น เราได้นำไปใช้ปฏิบัติจริงแล้ว และสามารถช่วยรักษาชีวิตคน ช่วยให้ประชาชนได้เกิดความสุข ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนปรารถนามาตลอดที่อยากให้ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำงาน สำหรับ อพม. ที่มีจำนวนกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ ตนต้องขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย และต้องดูแลในทุกมิติ ซึ่ง อพม. ต้องทำให้ได้และทำให้เป็น นับเป็นจุดเริ่มต้นก้าวแรกของการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ซึ่งระบบ อพม. Smart มีความคุ้มค่าและใช้งานได้จริง อีกทั้ง ขอให้ พมจ. ทุกจังหวัด ได้ใช้ระบบ อพม. Smart เป็นเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์ให้กับประชาชนได้ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด และแม่นยำที่สุด