อธิบดีกรมทะเลและชายฝั่งสั่งตรวจสอบแก้ไขปัญหาทุ่นดักขยะทะเล ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยด่วน

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรามีการเผยแพร่ข่าวในประเด็นที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ดำเนินการตรวจสอบโครงการบริหารจัดการขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย

โดยพบปัญหาในขั้นตอนการดำเนินงาน และข้อบกพร่องการโอนครุภัณฑ์ทุ่นดักขยะ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุ่นดักขยะบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ สูญหาย บางแห่งมีชาวบ้านเข้ามาทำลาย ลักขโมย ทำให้เกิดความเสียหายนั้น เมื่อทราบเหตุดังกล่าว จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) และสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการด่วน

ทั้งนี้ จากการรายงานเบื้องต้นทราบว่า ที่ผ่านมากรมทะเลและชายฝั่งประสบความสำเร็จในการจัดวางทุ่นดักขยะทะเลในหลายพื้นที่ จึงทำให้จังหวัดสงขลาเล็งเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น จึงขอความร่วมมือให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (ศวทล.) เขียนโครงการเพื่อของบประมาณจังหวัดมาใช้ดำเนินการภายในจังหวัดสงขลา เพื่อลดปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่ทะเล และได้ผลักดันให้เสนอโครงการบริหารจัดการขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยด้วย เพื่อให้ขยะทะเลมีปริมาณลดลงอย่างยั่งยืน โดยขอจากงบประมาณกลุ่มจังหวัดเพื่อดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา

ซึ่งก่อนเริ่มดำเนินโครงการนั้น เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ได้ลงสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะวางทุ่นดักขยะทะเล พร้อมทั้งเข้าพบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อขอความเห็นชอบในการดำเนินการ และได้ประสานงานเบื้องต้นแล้วว่าหากโครงการดังกล่าวมีการดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำมาตรการบริหารจัดการขยะทะเลแล้วเสร็จ จะมอบทุ่นดักขยะไว้ใช้งานในพื้นที่โดยจะส่งมอบตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2563 ได้รับการอนุมัติงบประมาณจำนวน 21 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การจัดทำมาตรการบริหารจัดการขยะทะเลโดยการวางทุ่นดักขยะ กิจกรรมที่ 2 การดำน้ำเก็บขยะระบบนิเวศแนวปะการังในทะเล กิจกรรมที่ 3 การเก็บขยะชายหาด และกิจกรรมที่ 4 การจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ โดยงบประมาณที่ได้รับเป็นงบลงทุนเพียงอย่างเดียวตามกิจกรรมที่ 1 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 15,563,000 บาท แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 19 (Covid-19) ทำให้กิจกรรมที่ 2,3,4 ทางจังหวัดสงขลาขอยกเลิกและให้ส่งคืนเงินเพื่อไปช่วยเหลือสถานการณ์แพร่ระบาดในช่วงนั้น การจัดวางทุ่นดักขยะดังกล่าว มีการศึกษาวิจัยข้อมูลขยะ ชนิด จำนวน ประเภทขยะ และแหล่งที่มา ซึ่งข้อมูลทั้งหมดได้นำชี้แจงเพื่อจัดประชุมแสดงความคิดเห็นและจัดทำมาตรการบริหารจัดการขยะ ในพื้นที่ 5 จังหวัด

ภายใต้โครงการ จากปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้อตรวจพบของ สตง.นั้น กรมทะเลและชายฝั่ง ได้สั่งการให้ ศวทล. และสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 ดำเนินการประสานงานกับ 5 จังหวัด เพื่อพิจารณาการนำทุ่นดักขยะดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ พร้อมเร่งประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับให้พี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งช่วยกันสอดส่องดูแลทุ่นดักขยะ หากพบเห็นว่าอุปกรณ์มีการชำรุดหรือเสียหายให้แจ้งไปยัง ศวทล. เพื่อเข้าทำการซ่อมแซ่มให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิมอีกครั้ง

สำหรับปัญหาการจัดวางทุ่นดักขยะในบริเวณที่ไม่เหมาะสม กรมทะเลและชายฝั่งพร้อมจะส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปจัดวางในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งต่อไป “นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย”