ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจง การวิจัยกัญชาทางการแพทย์มีงบสนับสนุนต่อเนื่อง ปี 2566 ใช้งบจากหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยมาวิจัยกัญชากัญชงครบวงจรกว่า 80 ล้านบาท ทำให้เกิดความคล่องตัวกว่าการใช้งบปกติ เน้นเรื่องประโยชน์ทางการแพทย์และควบคุมคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้สั่งใช้ ผู้ป่วยและผู้บริโภค พร้อมให้ทุกเขตสุขภาพวิจัยอย่างน้อยปีละ 2 เรื่อง รองรับ Service Plan สาขากัญชา โดยตั้งแต่มีนโยบายในปี 2562 จนถึงปี 2565 เกิดงานวิจัยกว่า 60 เรื่อง และกว่าครึ่งเป็นเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ตามพ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ไม่มีการจัดสรรงบฯ เพื่อศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์ให้กับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข แสดงว่ากัญชาทางการแพทย์เป็นเพียงวาทกรรม ว่า ตั้งแต่เริ่มมีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุขได้เดินหน้าศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปลูกและผลิตเป็นยาใช้เองได้ ช่วยลดรายจ่ายการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และสร้างรายได้จากการส่งออกและดึงผู้ป่วยจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการ โดยมีการทบทวนข้อมูลทางวิชาการอย่างเป็นระบบ และจัดทำแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงว่ายากัญชาจะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพเรื่องใดได้บ้าง
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในด้านการศึกษาวิจัย โรงพยาบาลและกรมวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสุขภาพจิต และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่างเร่งศึกษาวิจัยโดยได้รับงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนการวิจัย เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นต้น ซึ่งจะมีความคล่องตัวในการดำเนินงานวิจัยมากกว่าการใช้งบประมาณปกติที่ต้องดำเนินการให้ทันในปีงบประมาณ เนื่องจากงานวิจัยบางเรื่องต้องใช้เวลาหลายปี และอาจมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการดำเนินงานวิจัย ซึ่งตั้งแต่เริ่มมีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ในปี 2562 จนถึงปี 2565 มีผลงานศึกษาวิจัยเกิดขึ้นถึง 60 เรื่อง ครอบคลุมตั้งแต่การนำไปใช้ประโยชน์ การผลิตและสกัด สายพันธุ์ และระบบการกำกับติดตามให้เกิดการใช้ที่ปลอดภัย
“งานวิจัยกว่าครึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยากัญชาหลักๆ ใน 3 กลุ่มโรค คือ มะเร็ง นอนไม่หลับ และโรคทางสุขภาพจิตที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยามาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์ที่เป็นผู้สั่งใช้ยาให้ผู้ป่วยแล้ว ยังถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการเสนอบรรจุยากัญชาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ 7 รายการ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังส่งผลต่อเกษตรกรให้มีตลาดรองรับที่ชัดเจนจากการปลูกกัญชา” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงสาธารณสุขยังมีการศึกษาวิจัยกัญชา กัญชง ครบวงจร ภายใต้งบวิจัยมากกว่า 80 ล้านบาท เช่น งบจาก สกสว. 4,106,000 บาท งบประมาณกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 15,000,000 บาท งบกองทุนภูมิปัญญา 13,370,000 บาท งบจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) 2,716,000 บาท เป็นต้น
โดยจะเน้นเรื่องการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาเครื่องมือและวิธีการเพื่อควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้สั่งใช้ยา ผู้ป่วย และผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยจากงานประจำ เนื่องจากมีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่การส่งเสริมการใช้อย่างแท้จริงของพื้นที่โดยในแผนบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขากัญชา ปีนี้ได้เพิ่มเติมให้ทุกเขตสุขภาพมีการวิจัยหรือจัดการความรู้อย่างน้อยปีละ 2 เรื่อง นอกเหนือจากตัวชี้วัดเรื่องการเข้าถึงยากัญชาของผู้ป่วยด้วย