จากนโยบาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนกระทั่งกรมประมงได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติกรอบวงเงินสินเชื่อกว่า 10,300 ล้านบาท เมื่อปี 2563 – 2565 มีชาวประมงให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ มากถึงจำนวน 5,596 ราย ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงให้สามารถกู้เงินนำไปเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพได้
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากผลสำเร็จโครงการฯ ดังกล่าวในครั้งแรก ผลปรากฎว่ามีผู้ประกอบการประมง ยังคงประสงค์ให้ภาครัฐดำเนินโครงการต่อจากเฟสแรก เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับพี่น้องชาวประมงได้ ประกอบกับในขณะนี้มีเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 50,000 กว่าลำ ที่จดทะเบียนเรือเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะดำเนินการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ จำนวน 9,593 ลำ
ซึ่งในจำนวนนี้มีเรือประมง จำนวน 103 ลำ ที่เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำการประมง ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ อีกทั้ง สถานการณ์ปัจจุบันที่ต้นทุนในการทำประมงสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำประมง ดังนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงได้เร่งผลักดันโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เฟส 2
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีมติ “อนุมัติ” โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เฟส 2 ภายในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และพื้นบ้านเรียบร้อยแล้ว โดยชาวประมงสามารถกู้เงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี และผู้ประกอบการประมงต้องจ่ายเองร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ ไม่เกิน 7 ปี นับตั้งแต่วันที่กู้ โดยรูปแบบของสินเชื่อฯ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) สินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ค่าน้ำมัน ค่าน้ำแข็ง ฯลฯ
2) สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว เพื่อเป็นเงินทุนในการไปปรับปรุงเรือ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำการประมง ซึ่งธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการฯ ภายในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
• วงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน จำนวน 2,000 ล้านบาท สำหรับเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป วงเงินสินเชื่อสูงสุดสุด รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท
• วงเงินสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จำนวน 3,000 ล้านบาท สำหรับ เรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส วงเงินสินเชื่อสูงสุดสุด รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ ในเฟสที่ 2 จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
คุณสมบัติ
1. เป็นบุคคลธรรมดา อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ สัญชาติไทย หรือ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย
2. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิครอบครองในเรือประมงที่มีทะเบียนเรือไทย
3. เป็นผู้ประกอบการประมงที่มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
4. กรณีเป็นผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์
5. ไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการได้รับใบอนุญาตทำการประมง ตามมาตรา 39 แห่งพระราชการกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และไม่เป็นผู้ที่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายวาด้วยการประมง
หลักประกันเงินกู้เงิน ให้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน ดังนี้
1. ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีหนังสือแสดงเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนจำนองได้หรืออาคารชุด
2. เรือประมงที่มีการจดทะเบียนเรือไทยถูกต้องตามกฎหมาย
3. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
4. บุคคลค้ำประกัน
5. หลักประกันอื่น ๆ ตามที่ธนาคารกำหนด
หลังจากนี้ กรมประมงจะได้ดำเนินการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ ธนาคารออมสิน ธกส. สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ฯลฯ เพื่อหารือกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินโครงการและเร่งรัดปล่อยกู้ต่อไป…รองอธิบดีฯ กล่าว