– ปัจจุบัน โรงอุตสาหกรรม และ โรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ค่อนข้างน้อย แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับมูลค่าตลาดเชื้อเพลิง Wood Pellets ในประเทศ ที่คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านบาทในปี 2568 จากราว 1.3 พันล้านบาท ในปี 2564 โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากภาครัฐที่ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 เนื่องจาก Wood Pellets จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการเผาไหม้เชื้อเพลิง
– Krungthai COMPASS ประเมินข้อดีของการใช้ Wood Pellets สำหรับโรงงานขนาด SME โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และเคมีภัณฑ์ และยาง ที่ดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถรองรับ Wood Pellets และหันมาใช้เชื้อเพลิงดังกล่าว จะประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 64% เมื่อเทียบกับกรณีที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง
– ในส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวล เชื้อเพลิง Wood Pellets จะเหมาะกับการเก็บเป็นเชื้อเพลิงสำรองในกรณีที่เชื้อเพลิงมวลหลักขาดแคลน อีกทั้ง การใช้เชื้อเพลิงนี้ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเชื้อเพลิงได้ถึง 0.8-2.9 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์
เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellets) เป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนที่จะถูกใช้แพร่หลาย และจะเข้ามามีบทบาทในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยสาเหตุสำคัญมาจากภาครัฐของไทยที่มีเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 อีกทั้ง ผลกระทบจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ที่ทำให้เกิดการจำกัดการส่งออกน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันและราคาพลังงานรูปแบบอื่นในประเทศอยู่ในระดับสูงในปีนี้ แนวโน้มดังกล่าวได้กดดันให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจโรงไฟฟ้าต้องปรับตัว โดยแนวทางหนึ่งคือการหันมาใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้ามากขึ้น เพราะนอกจากการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงแล้ว ยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตสินค้าอีกด้วย
บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านทำความรู้จัก Wood Pellets รวมทั้งประโยชน์ และแนวทางในการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ Wood Pellets ร่วมกับเชื้อเพลิงที่ผู้ประกอบการใช้ในปัจจุบัน
I. ทำความรู้จักกับเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด
เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellets) หมายถึง เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น เศษไม้ยางพารา ทะลายปาล์ม ฟางข้าว ที่ผ่านการแปรสภาพโดยการอบไล่ความชื้น แล้วนำมาบด และอัดให้มีลักษณะเป็นแท่งกลมที่มีความหนาแน่นสูง1 ทำให้เชื้อเพลิงดังกล่าวสามารถผลิตพลังงานความร้อนเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น รวมทั้ง ยังสะดวกในการจัดเก็บ และขนส่ง นอกจากนั้น การใช้เชื้อเพลิง Wood Pellet ในการผลิตไฟฟ้ายังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเชื้อเพลิงชีวมวลอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านี้ ปัจจุบัน Wood Pellets ได้ถูกพัฒนาคุณสมบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการเผาเชื้อเพลิงชีวมวลในที่อับอากาศที่มีอุณหภูมิ 250-300 องศาฯ แล้วนำมาอัดเป็นเม็ด จนได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เรียกว่า Torrefied Pellets ซึ่งมีคุณสมบัติเชื้อเพลิงใกล้เคียงกับถ่านหิน แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า
โดยปัจจุบัน เชื้อเพลิง Wood Pellets ซึ่งรวมถึง Torrefied Pellets ยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากนัก อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
II.ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการในไทยใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets มากน้อยเพียงใด?
ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้า และพลังงานความร้อนมาจาก 2 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งคือ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 55% และ 45% ของปริมาณการใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ทั้งหมด ตามลำดับ
ในส่วนของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งรวมถึง Wood Pellets ค่อนข้างน้อยในการผลิตพลังงานความร้อน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร และแปรรูปเกษตร รวมถึงเคมีภัณฑ์ เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทยที่เริ่มนำ Wood Pellets ไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานความร้อนในโรงงานปูนซีเมนต์ เนื่องจากโรงงานในกลุ่มนี้มีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงดังกล่าวได้ สอดคล้องกับ
สัดส่วนปริมาณพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งรวมถึง Wood Pellets ที่อยู่ประมาณ 28% ของปริมาณการผลิตพลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรมของไทยทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มี่สัดส่วนสูงถึง 63%2 เนื่องจากโรงงานในปัจจุบันมีข้อจำกัดในเรื่องการดัดแปลงต่อเติมระบบผลิตพลังงานความร้อน (เครื่องกำเนิดไอน้ำ) เดิมที่ได้ติดตั้งกับเครื่องจักรไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งรวมถึง Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วม
สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้า ปัจจุบันกลุ่มโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้าน้อยมาก เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง Wood Pellets สูงกว่าเชื้อเพลิงชีวมวลค่อนข้างมาก ซึ่งไม่จูงใจให้โรงไฟฟ้าชีวมวลใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับ การใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อร่วมในโรงไฟฟ้าถ่านหินยังบั่นทอนกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 3-10%3
อย่างไรก็ดี ในระยะ 4-5 ปี ข้างหน้า คาดว่าผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้า และความร้อนมากขึ้น ทำให้ Krungthai COMPASS คาดว่ามูลค่าตลาด Wood Pellets ในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวเป็น 1.8 พันล้านบาท ในปี 2568 จาก 1.3 พันล้านบาท ในปี 2564 การมีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาข้อจำกัดในการดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงขึ้นมาใหม่ และเดินขนานกับเครื่องกำเนิดไอน้ำเดิม3 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้โรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และแปรรูปเกษตร หันมาใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำดังกล่าว และ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น
นอกจากนี้ การตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ของภาครัฐเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 2,220 เมกะวัตต์หันมาใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหินในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันเริ่มเห็นโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ. อย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะเริ่มนำ Wood Pellets ไปเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหินลิกไนต์ในการผลิตไฟฟ้า เพราะการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งส่งผลให้ความต้องการในกลุ่มโรงไฟฟ้าเติบโตในอัตราเร่งขึ้น
III. การใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของไทยอย่างไร?
สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานความร้อนในกระบวนการผลิตจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเคมีภัณฑ์ และยาง เป็นต้น เปลี่ยนมาดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถรองรับเชื้อเพลิง Wood Pellets และหันมาใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิง แทนที่น้ำมันดีเซล จะสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยได้ถึง 64% หรือ 3.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการคุ้มค่าในการลงทุนดัดแปลงเครื่องดังกล่าว ซึ่งใช้งบการลงทุนประมาณ 4.1 ล้านบาทภายใน 1 ปี ทั้งนี้ งบประมาณจำนวนนี้สามารถดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำที่กำลังการผลิต 7.13 ล้าน MJ/Kg ต่อปี ซึ่งอาจเหมาะกับผู้ประกอบการขนาด SME ที่มีรายได้ประมาณ 200-250 ล้านบาท/ปี สอดคล้องกับรายได้ของผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้ใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำที่มีกำลังการผลิตดังกล่าวในโครงการ”สาธิตการใช้เชื้อเพลิงอัดเม็ดในหม้อน้ำขนาดเล็กเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลใน ภาคอุตสาหกรรม” ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
แม้ว่าการใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานความร้อนแทนที่น้ำมันดีเซล จะช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคที่ทำให้เชื้อเพลิง Wood Pellets ไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากนักในภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งมีดังนี้
1) การใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถผลิตพลังงานความร้อนได้เพียงพอต่อความต้องการในกระบวนการผลิต ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเดินเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงควบคู่กัน เพื่อให้สามารถผลิตพลังงานความร้อนได้เพียงพอ
2) มีความซับซ้อนในการออกแบบระบบป้อนเชื้อเพลิง Wood Pellets เข้าสู่ระบบผลิตพลังงานความร้อนให้มีอัตราความเร็วในการลำเลียงที่เหมาะสม เพราะหากระบบป้อนเชื้อเพลิงดังกล่าวมีอัตราการลำเลียงเชื้อเพลิงเร็วเกินไป จะทำให้เกิดการอุดตันในช่องไหลอากาศ5 ซึ่งอาจนำสู่อัคคีภัยได้
สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากโรงไฟฟ้าชีวมวลหันมาใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets แทนที่เชื้อเพลิงชีวมวล จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเชื้อเพลิงได้ถึง 0.8-2.9 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์ หรือ 34%-53% ในกรณีที่ระยะเวลาขนส่งประมาณ 100 กิโลเมตร และราคาน้ำดีเชลอยู่ระหว่าง 35-35.99 บาท/ลิตร เนื่องจากเชื้อเพลิง Wood Pellets ใช้พื้นที่จัดเก็บน้อยกว่าเชื้อเพลิงชีวมวล 2-3 เท่าในน้ำหนักเท่ากัน โดยพื้นที่ 1 ลูกบาศก์เมตร จะสามารถบรรจุเชื้อเพลิง Wood Pellets ได้ถึง 650-700 กิโลกรัม ขณะที่บรรจุเชื้อเพลิงชีวมวล อย่างไม้สับ และขี้เลื้อย ได้เพียง 200-300 กิโลกรัม จึงทำให้สามารถขนส่งเชื้อเพลิง Wood Pellets ได้มากกว่าในหนึ่งรอบรถบรรทุก ประกอบกับ โรงไฟฟ้าชีวมวลใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นผลจากคุณภาพเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่สูงกว่า โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets จำนวน 5,700-9,000 ตัน/เมกะวัตต์ ขณะที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจำนวน 8,400-19,000 ตัน/เมกะวัตต์ จึงทำให้ความถี่ในการขนส่งระหว่างโรงไฟฟ้าชีวมวล และแหล่งวัตถุดิบลดลงตามด้วย
นอกจากนั้น เชื้อเพลิง Wood Pellets จัดเก็บรักษาง่าย และยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชีวมวล จึงอาจจะเหมาะกับการจัดเก็บเป็นเชื้อเพลิงสำรองในกรณีที่เกิดปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงมวลหลัก เช่น ชานอ้อยที่เกิดปัญหาการขาดแคลนในช่วงธันวาคม-มีนาคม8 เนื่องจากเชื้อเพลิง Wood Pellets จะไม่ย่อยสลายทางชีวภาพในระหว่างการจัดเก็บ ขณะที่เชื้อเพลิงชีวมวลจะมีการย่อยสลายทางชีวภาพในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากประโยชน์ของเชื้อเพลิง Wood Pellets ต่อโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กล่าวมาข้างต้น การใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets แทนที่เชื้อเพลิงชีวมวล ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง Wood Pellets จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.03-0.106 kg CO2/ หน่วย ขณะที่เชื้อเพลิงชีวมวลจะปล่อยก๊าซดังกล่าวสูงถึง 0.203 kg CO2/หน่วย เนื่องจากการใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงจะไม่เกิดควันขณะเผาไหม้ ขณะที่ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจะก่อให้เกิดควันในขณะเผาไหม้
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน การใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยหากใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วมในสัดส่วน 10% จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 9%
อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าชีวมวล และถ่านหินจะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หากใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง Wood Pellets และ การใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหินสูงถึง 2.70-4.20 และ 1.40 บาท/หน่วยไฟฟ้า ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่า เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และถ่านหินนำเข้าที่อยู่ราว 1.20-2.40 และ 1.20 บาท/หน่วยไฟฟ้า ตามลำดับ
หลังจากได้รู้ถึงข้อดี และข้อเสียของการใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตพลังงานแล้ว ผู้ประกอบการที่สนใจที่จะใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงในอนาคตอันใกล้จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของขั้นตอนการติดตั้ง และดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถรองรับเชื้อเพลิง Wood Pellets รวมทั้งการจัดหาเชื้อเพลิงดังกล่าว ซึ่งจะได้วิเคราะห์ในหัวข้อถัดไป
IV. หากโรงงานอุตสาหกรรมต้องการใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ควรเริ่มต้นอย่างไร?
โดยปกติ ผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถรองรับเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้ง อาจจำเป็นต้องซื้อ ตัวอย่างเชื้อเพลิงไปทดสอบว่าสามารถใช้ได้จริงโดยไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการผลิต เราจึงสรุปสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัว ก่อนที่จะใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในการผลิตพลังงานความร้อนในกระบวนการผลิต ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ควรเลือกปรึกษา รวมทั้งใช้บริการ และซื้อเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้ Wood Pellets จากผู้รับเหมาในการดำเนินการติดตั้ง หรือดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้สามารถใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ที่มีประสบการณ์ในการติดตั้ง หรือดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งสามารถให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่ให้คำปรึกษาในการติดตั้งจนถึงบริการหลังการขาย เช่น บริการซ่อมบำรุง และอบรมวิธีการใช้งาน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถติดตั้ง และดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำให้เข้ากับกระบวนการผลิต
- หลังจากติดตั้ง หรือดัดแปลงหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets เสร็จแล้ว ควรซื้อตัวอย่างเชื้อเพลิง Wood Pellets ในจำนวนไม่มาก เพื่อนำไปทดสอบว่าเชื้อเพลิงดังกล่าวสามารถใช้ได้จริงโดยไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการผลิต หรือต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถซื้อเชื้อเพลิง Wood Pellets ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ซื้อตรงจากผู้ผลิต Wood Pellets โดยผู้ผลิตบางรายอาจเสนอเงื่อนไขให้ผู้ซื้อนำเอาเชื้อเพลิง Wood Pellets ไปทดสอบในกระบวนการผลิต ก่อนที่จะมีการเจรจาสั่งซื้อ 2) ซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยผู้ประกอบการอาจไม่จำเป็นต้องซื้อตัวอย่างเชื้อเพลิง Wood Pellets มาทดสอบในกระบวนการผลิต เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายมักซื้อตัวอย่างเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่จะขาย ไปทดสอบว่าเชื้อเพลิงดังกล่าวได้มาตรฐานตามความต้องการตลาดหรือไม่ โดยรายละเอียดของผู้ผลิต และจัดจำหน่ายเชื้อเพลิง Wood Pellets ในรูปที่ 4
- ควรเจรจาซื้อเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลแข็งของไทย และมีราคาที่เหมาะสม โดยปกติ ราคาเชื้อเพลิง Wood Pellets จากเศษไม้ อยู่ประมาณ 3,000-4,000 บาท/ตัน และราคาเชื้อเพลิง Wood Pellets จากแกลบ อยู่ราว 2,900 บาท/ตัน โดยรายละเอียดของมาตรฐานของเชื้อเพลิง Wood Pellets อยู่ในรูปที่ 4
- ควรฝึกอบรมวิธีการใช้งาน ตรวจสอบในเบื้องต้น และมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของเครื่องกำเนิดไอน้ำให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานสามารถใช้งานเครื่องกำเนิดไอน้ำได้อย่างปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานของภาครัฐ โดยรายเอียดของศูนย์ฝึกอบรมวิธีการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำ ซึ่งใช้ Wood Pellets เป็นเชื้อเพลิงอยู่ในรูปที่ 4
Implication:
- โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ต้องปรับมาใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets ในระยะข้างหน้า ควรมีการเตรียมพร้อมทั้งด้านเทคนิคและเงินลงทุน ผู้ประกอบการข้างต้น โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมควรปรึกษาผู้รับเหมาติดตั้ง หรือดัดแปลงเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets และผู้ผลิตเชื้อเพลิง Wood Pellets เพื่อเลือกเครื่องกำเนิดไอน้ำ และเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่เหมาะกับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการนั้น โดยทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การไปปรึกษาหน่วยงานที่ความเชี่ยวชาญด้านเครื่องกำเนิดไอน้ำ เช่น สมาคมหม้อน้ำและภาชนะรับความดันไทย รวมถึงการเตรียมเงินลงทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องกำเนิดไอน้ำและระบบที่เกี่ยวข้องด้วย
- ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิง Wood Pellets เพื่อให้ใช้อย่างแพร่หลายทั้งในกลุ่มโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) การกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล 2) ควรใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 3) ควรสนับสนุนให้มีการกำหนดราคาอ้างอิง และกลไกการซื้อขายของตลาดเชื้อเพลิง Wood Pellets
1) ภาครัฐควรกำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลขนาดใหญ่ ต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังานหมุนเวียนในสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งคล้ายคลึงกับนโยบายของเกาหลีใต้ที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 500 เมกะวัตต์ ต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึง Wood Pellets ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 10% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2564 เป็น 20.5% ในปี 2568 [1]โดยนโยบายดังกล่าวช่วยให้ภาครัฐสามารถบรรลุเป้าหมายที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ได้ง่ายขึ้น และช่วยหนุนความต้องการเชื้อเพลิง Wood Pellets ให้เพิ่มขึ้นตามด้วย สะท้อนได้จากความต้องการ Wood Pellets ของเกาหลีใต้ที่คาดว่าจะเติบโตถึงเฉลี่ยปีละ 8.6% ในช่วงปี 2564-68 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของทั่วโลกที่อยู่ประมาณ 6.8%[2]
[1] Argus Media,(ธ.ค. 2564) และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS
[2] FutureMetrics (ม.ค. 2565) Mordor Intelligence (ส.ค. 2565) และคำนวณโดย Krungthai COMPASS