วช. หนุน นักวิจัย ม.นเรศวร ต่อยอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอินทผลัม สู่มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จครั้งแรก พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและช่วยผู้ประกอบการผลิตน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่มด้วยเทคโนโลยีความดันสูง ช่วยยืดอายุน้ำมะพร้าวสด นาน 2 เดือนโดยที่รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรอย่างแพร่หลาย ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการปรับปรุงสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ ด้านกระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว รวมไปถึงด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ทุนสนับสนุนกับโครงการ “การคัดเลือกสายพันธุ์และขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัมเชิงพาณิชย์” มี “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” จากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่มีต้นพันธุ์ที่ดีในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังส่งเสริมภาคการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมให้มีการเติบโตมากขึ้นอีกด้วย
รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า การขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทีมวิจัยประสบความสำเร็จมาแล้ว กับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม ไม้ผลที่กำลังได้รับความนิยม ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีการขยายพันธุ์สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าต้นพันธุ์ราคาแพงจากต่างประเทศและช่วยลดต้นทุนการผลิตอินทผลัมให้กับเกษตรกรไทย
ทั้งนี้ทีมวิจัย ฯ ได้นำองค์ความรู้และทักษะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดังกล่าว และการตรวจสอบต้นพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมในระดับดีเอ็นเอของพืช มาใช้ในการพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ซึ่งการผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมจากต้นพันธุ์ดียังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากการเพาะต้นกล้าจากผลมะพร้าวมีอัตราการงอกเพียง 50 – 55 % ขณะเดียวกันหากเกษตรกรซื้อจากแหล่งจำหน่ายต้นพันธุ์มะพร้าวทั่วไป กว่าจะทราบว่าเป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้หรือไม่ต้องใช้เวลาในการปลูกกว่า 3 ปี ถึงจะจำแนกมะพร้าวน้ำหอมแท้ออกจากมะพร้าวต้นเตี้ยชนิดอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันได้ เพราะต้องจำแนกจาก ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ลักษณะผล กาบใบ ลำต้น และการทดสอบชิมน้ำและเนื้อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต โดยจะทำให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก ปลอดโรค ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ และคงอัตลักษณ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ 100 % ช่วยลดอัตราความเสี่ยงของเกษตรกรในเรื่องพันธุ์ที่ไม่แท้
สำหรับกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมะพร้าวน้ำหอม จะเริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่ดี น้ำและเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายสูง จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ และให้ผลสม่ำเสมอ จากนั้นจะใช้เทคนิคปลอดเชื้อตัดชิ้นส่วนของพืช (Explant) ที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อแล้วมาเลี้ยงในขวดแก้วที่บรรจุอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อมาแล้ว เมื่อเซลล์จากชิ้นส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวที่นำมาเลี้ยงได้รับอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ จะมีการเจริญเติบโตเป็นต้นโดยตรง หรือเกิดเป็นกลุ่มของเซลล์ที่เรียกว่าแคลลัส และเมื่อนำแคลลัส ไปเลี้ยงในสภาพที่มีแสง จะเกิดยอดใหม่ที่มีสีเขียว ชักนำให้เกิดยอดและราก เมื่อต้นกล้ามียอดและรากที่สมบูรณ์ จึงนำออกปลูก อนุบาลในโรงเรือน และนำออกปลูกในแปลงปลูกต่อไป
“ทีมวิจัยใช้เวลาประมาณ 2 ปีในพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีการตรวจสอบในระดับดีเอ็นเอ ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จ และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน ”
นอกจากนี้ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ยังมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีการแปรรูปด้วยความดันสูง (High Pressure Processing: HPP) ซึ่งเป็นกระบวนการฆ่าเชื้อก่อโรคที่อาจพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่อุณหภูมิห้อง แบบไม่ใช้ความร้อน (Non-thermal process) มาใช้ในการแปรรูปน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่ม ให้กับผู้ประกอบการ สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาน้ำมะพร้าวน้ำหอมสดพร้อมดื่มได้นานถึง 2 เดือน โดยที่น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มยังมีคุณภาพใกล้เคียงมะพร้าวสด หอม หวาน และคงคุณค่าทางโภชนาการ คุณภาพทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ไม่สูญเสียไปจากเดิม และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ทีมวิจัย ฯ ได้มีการนำต้นพันธุ์และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัม มาจัดแสดงในงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 63 ปี เมื่อวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จตุจักร กรุงเทพฯ