ชป.นำคณะสื่อมวลชนร่วมโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนพระนครศรีอยุธยา ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 5 มิถุนายน 2562 กรมชลประทาน นำโดย นายอรรถพร ปัญญาโฉม รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน ที่ 10 นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายประวิณ จ่าภา ผู้อำนวยการส่วนออกแบบระบบชลประทาน สำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม นายพฤทธิพงศ์ ทัศน์อัญชุลีกุญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา นายวรวิทย์ บุณยเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล และ นายพงษ์ศักดิ์ เลียววงศ์วาน ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 2 นำคณะสื่อมวลชนร่วมโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนพระนครศรีอยุธยา โดยได้เดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานการก่อสร้างประตูระบายน้ำครองบางบาล – บางไทร และลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างประตูระบายน้ำบางบาล – บางไทร โดยประตูระบายน้ำบางบาล – บางไทร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก บานประตูระบายโค้ง สร้างขวางลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ในตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีแผนการดำเนินงานแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2566 ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้ว 5 เปอร์เซ็นต์ สร้างขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายต่อโครงสร้างของโบราณสถานภายในพื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก หรือปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีอัตราการระบายน้ำรวดเร็วขึ้น เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงก่อนเข้าสู่พื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีลักษณะคดเคี้ยว แคบ เป็นคอขวด และตามริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และเป็นที่ตั้งชุมชนปิดกั้นเส้นทางการระบายและกีดขวางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ให้แก่พื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้งและเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภค-บริโภคของชุมชนท้องถิ่น

จากนั้นได้นำคณะสื่อมวลชนดูแนวป้องกันอุทยานประวัติศาสตร์ – มรดกโลก ณ ตรงข้ามวัดกษัตราธิราชและวัดไชยวัฒนาราม เพื่อศึกษาพื้นที่ประวัติศาสตร์บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา

กรมชลประทานได้เร่งศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประตูระบายน้ำพระนครศรีอยุธยา เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และป้องกันความเสียหายต่อชุมชนเมืองและแหล่งโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีอัตราการไหลรวดเร็ว

ทั้งนี้ ในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 ปัจจัย ได้แก่ ทรัพยากรทางกายภาพชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต โดยมีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความสำคัญกับกระบวนการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกด้วย