จากนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้กรมเจ้าท่าเตรียมความพร้อมที่จะผลิตบุคลากร ด้านพาณิชยนาวีที่มีคุณภาพในด้านโลจิสติกส์ให้เพียงพอ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า เป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดสอนวิชาชีพการเดินเรือพาณิชย์ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการผลิตคนประจำเรือทุกระดับชั้นให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อสนับสนุนกิจการพาณิชยนาวีของประเทศ ตลอดจนพัฒนา ฝึกอบรม
เพื่อเพิ่มวิทยฐานะคนประจำเรือทุกระดับชั้นให้ได้มาตรฐานสากลสอดคล้องกับข้อกำหนด ในอนุสัญญาว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตรและการปฏิบัติหน้าที่ ยามในเรือของคนประจำเรือ ค.ศ. 2010 (International Convention on Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers 2010 : STCW 2010) ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO)
โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 นาวาโท ธชย สุอังคะวาทิน ตำแหน่งนักเดินเรือชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับการเรือสาครวิสัย และเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มเรือฝึก ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า นำคณะนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีทางทะเลแห่งเอเชีย (AMCOL) จำนวน 169 คน และเจ้าหน้าที่จากวิทยาลัยเทคโนโลยีทางทะเลแห่งเอเชีย จำนวน 6 คน ออกเดินทางปฏิบัติราชการฝึกภาคปฏิบัติทางทะเล
เพื่อให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจและคุ้นเคยกับการทำงานในเรือตามโครงการพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชยนาวีของชาติ ระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคม 2565 รวมระยะเวลา 12 วัน โดยใช้เส้นทางการฝึก จังหวัดสมุทรปราการ – เกาะช้าง จังหวัดตราด – เมืองท่าสาธารณรัฐสิงคโปร์ – ท่าเทียบเรือน้ำลึก จังหวัดสงขลา – จังหวัดสมุทรปราการ
ทั้งนี้ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า มีความพร้อม และยินดีต้อนรับสถาบันการศึกษาด้านพาณิชยนาวีของไทย ในการศึกษา เก็บเกี่ยวความรู้ เพื่อให้มีประสบการณ์ด้านพาณิชย์นาวี เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมการเดินเรือได้อย่างคุ้มค่า
รวมทั้งพร้อมที่จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในด้านโลจิสติกส์ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อสนับสนุนกิจการพาณิชยนาวีให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน