กรมสุขภาพจิต เริ่มรณรงค์สัปดาห์สุขภาพจิต แห่งชาติ ประจำปี 2565

กรมสุขภาพจิต เริ่มรณรงค์สัปดาห์สุขภาพจิต แห่งชาติ ประจำปี 2565 ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ เอไอเอส ส่งแคมเปญกระตุกเตือนสังคม ชี้ “มีความรู้ก็อยู่รอด”ชวนคนไทยหยุดเสี่ยงกับทุกภัยไซเบอร์ เรียนรู้ทักษะสู่พลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทันโลกออนไลน์

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 กรมสุขภาพจิต ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ เอไอเอส เปิดตัวแคมเปญภาพยนต์โฆษณาชุดใหม่ล่าสุดภายใต้แนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” ตอกย้ำภารกิจเพื่อนคู่คิดดิจิทัล เพื่อคนไทยทุกช่วงวัยเอาชนะภัยไซเบอร์ พร้อมให้ความสำคัญต่อสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติประจำปี 2565

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมด้านสุขภาพจิตของคนไทยโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้งานสื่อออนไลน์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะดิจิทัลไว้อย่างน่าสนใจว่า การอยู่รอดและมีสุขภาพดี หมายรวมถึงการมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ซึ่งวันนี้ยังมีคนไทยและเยาวชนมากมาย ที่เจอปัญหาภัยไซเบอร์และไม่สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม

กรมสุขภาพจิตจึงมุ่งสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ Digital Literacy พร้อม ๆกับการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการตระหนักรู้ เพราะวันนี้คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมาร่วมกันหยุดปัญหานี้เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อจิตใจ ชีวิต และทรัพย์สิน ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จะอยู่รอดได้อย่างดีในโลกยุคดิจิทัลปัจจุบัน ก่อนที่จะแก้ไขไม่ทันนอกเหนือจากการสร้างทักษะดิจิทัลที่ดีเพื่อรับมือกับปัญหาการกลั่นแกล้ง การล้อเลียน การไซเบอร์บูลลี่ หรือปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตของผู้คน

การมีความรอบรู้เท่าทันสื่อยังช่วยทำให้เราป้องกันภัยที่เกิดขึ้นจากกลุ่มมิจฉาชีพที่หวังใช้โอกาสจากเทคโนโลยีในการหลอกลวงจนนำไปสู่ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในที่สุดด้วย

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่าการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ถือเป็นภารกิจหลักของ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะทำให้ภารกิจนี้สำเร็จได้คือพี่น้องประชาชนต้องมีสติรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพ ผมเชื่อว่าถ้าเราร่วมกันสื่อสาร และสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนมีสติรู้เท่าทันโดยต้อง ไม่เชื่อ สรรพคุณอวดอ้างหรือการชักจูงในทุกรูปแบบ ไม่คุยกับสายที่ไม่มั่นใจ ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว ไม่โอนเงินให้กับคนที่ไม่รู้จักผ่านการรับสายอย่างเด็ดขาด หากเข้าใจกระบวนการและวิธีการปฏิเสธได้ ความรู้เหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีที่ทำให้เราปลอดภัยจากโลกไซเบอร์ได้

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า ภารกิจของ AIS อุ่นใจไซเบอร์ คือ การเดินหน้าทำงานเพื่อความยั่งยืนเพื่อสร้างทักษะดิจิทัล ใน 2 มิติ คือ 1) นำเทคโนโลยีมาพัฒนาในรูปแบบของบริการดิจิทัลที่ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ และ 2) สร้างภูมิปัญญา องค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยล่าสุดเราได้ เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ “อุ่นใจไซเบอร์” ที่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล โดยเนื้อหาที่มีคุณค่าของกรมสุขภาพจิต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ตั้งแต่เด็กและเยาวชนไปจนถึงคนทั่วไป อันจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือป้องกันภัยร้ายจากโลกไซเบอร์

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวย้ำอีกว่า นอกเหนือจากหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ที่เป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งที่สำคัญในการส่งเสริมสุขภาพจิตทางดิจิทัลเพื่อประชาชนแล้วนั้น กรมสุขภาพจิตยังมีแคมเปญรณรงค์ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนที่พร้อมจะแนะนำเครื่องมือสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ให้รู้เท่าทันสื่อ เสริมภูมิคุ้มกันให้จิตใจเข้มแข็งต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบันได้